Quantcast
Channel: Manager 360° Magazine - Cover Story
Viewing all 540 articles
Browse latest View live

1 ปี เอสโคล่า สมรภูมิน้ำดำ โหดสุดขั้ว

$
0
0

 

2 พฤศจิกายน 2556 ครบรอบ 1 ปี หลังค่าย “เสริมสุข” จุดพลุเปิดตัวเครื่องดื่มน้ำอัดลมแบรนด์ใหม่ “เอสโคล่า” ภายใต้เครือข่ายอาณาจักรธุรกิจ “ไทยเบฟเวอเรจ” ของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี” แม้การต่อสู้ในสมรภูมิน้ำดำสามารถเขย่าขวัญคู่แข่งต่างชาติยักษ์ใหญ่ ทั้งโค้ก เป๊ปซี่ และบิ๊กโคล่า ตั้งแต่ออกสตาร์ท โกยยอดขาย 1,000 ล้านบาท ภายในเวลา 6 สัปดาห์ เป็นสถิติพันล้านที่เร็วที่สุด อีก 6 เดือน ทะลุ 4,000 ล้านบาท เร่งสปีดกินส่วนแบ่ง 19% เขี่ย “เป๊ปซี่” แซงขึ้นตำแหน่งเบอร์ 2 และดันสู่ระดับ 20% ยอดขาย 8,000 ล้านบาทในปีแรก

แต่การก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของ “เอส” ถือเป็นปฏิบัติการโหดสุดขั้ว เนื่องจากสงครามการแข่งขันเพิ่มดีกรีความร้อนแรงอีกหลายร้อยเท่า โดยเฉพาะ “เป๊ปซี่” ประกาศขอฟื้นคืนชีพ เร่งขึ้นสู่อันดับ 2 และทวง “แชมป์” จาก “โค้ก” ขยายแนวรบทั้งในตลาดไทย ตลาดอาเซียน และทั่วตลาดเอเชีย
 
ขณะที่ “เอสโคล่า” ซึ่งไทยเบฟเวอเรจชูจุดขายหลักและจุดยืนประการสำคัญ คือการเป็นสินค้าแบรนด์ไทย เรียกกระแสการบริโภคจากคนไทยและสร้างแบรนด์ให้เป็น International Standard เพื่อบุกตลาดโลกอย่างไร้ขอบเขต 
 
คำว่า “เอส” หรือ “est” ในภาษาละติน หมายถึง “ตะวันออก” จึงซ่อนแมสเสจชิ้นสำคัญในฐานะโคล่าจากชาติตะวันออกที่ต้องการเข้ามาแทนที่โคล่าจากชาติตะวันตกในทุกจุดพื้นที่
 
เป้าหมายแรก คือการขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดน้ำอัดลมไทยภายใน 3 ปี
 
ฐิติวุฒิ์ บุลสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า เสริมสุขมีมายาวนานถึง 60 ปี แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มสร้างบิสสิเนสโมเดลใหม่ เพิ่มธุรกิจเป็น 4 ขา คือ น้ำอัดลม น้ำดื่ม น้ำไม่อัดลม และการจัดจำหน่าย สร้างแบรนด์ของตัวเอง คือ “เอส” ซึ่งช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คนไทยเกือบ 100% รู้จักแบรนด์ “เอส”แล้ว
 
ทั้งนี้ ในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมมูลค่า 44,000 ล้านบาท แยกเป็นกลุ่มน้ำดำ 80% มูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท และกลุ่มน้ำสีอีก 20% มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท โดย “โค้ก” ยึดตำแหน่งผู้นำในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม ส่วนแบ่งเกือบ 57%  สินค้าในพอร์ต ได้แก่ โค้ก, โค้ก ซีโร่, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปร์ท, ชเวปปส์, รูทเบียร์ และเอแอนด์ดับบลิว รวมทั้งโค่น “เป๊ปซี่” ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในตลาดน้ำดำเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ครอบครองส่วนแบ่ง 50% ทิ้งห่าง “เอส” ที่เก็บส่วนแบ่งมาได้ 20%
 
ส่วน “เป๊ปซี่” อยู่ที่ 15-16%  “บิ๊กโคล่า” จากประเทศเปรูที่เริ่มเงียบๆ ทรงๆ อยู่ที่ 12% และที่เหลือราว 5% เป็นแบรนด์เก่าแก่อย่าง “อาร์ซี” และ “ซาสี่” ของเอฟแอนด์เอ็น ที่เริ่มกลับเข้ามาทำตลาดอีกครั้ง
 
โจทย์ของ “เอส” จึงจำเป็นต้องสร้างความเป็นอินเตอร์แบรนด์เพื่อแข่งขันกับโคล่าต่างชาติที่ฝังรากลึกในตลาดไทยมาอย่างยาวนาน หลังจากสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมาตลอด 1 ปี โดยเน้นกลยุทธ์เรื่องรสชาติที่จับมือกับกลุ่มนักวิจัยชาวสวิสคิดค้นรสชาติที่โดนคอโคล่าให้มากที่สุด การรับรู้ผ่านกิจกรรมการตลาดที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายและกลยุทธ์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งมิวสิกมาร์เก็ตติ้งและสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์การแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดในปี 2557 เพราะไม่ใช่แค่ฤดูกาลแข่งขันพรีเมียร์ แต่เป็นปีมหกรรมฟุตบอลโลก 2014 ด้วย
 
ล่าสุด เสริมสุขทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท อัดกลยุทธ์สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งแบบจัดเต็ม โดยเซ็นสัญญาเป็นผู้สนับสนุนทีมพรีเมียร์ลีกชื่อดัง “สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี” แชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2011-2012 สัญญา 2 ปี ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งฐิติวุฒิ์กล่าวว่า การเลือกทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี เป็นตัวทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง เพราะมีดีเอ็นเอคล้ายกัน ตั้งแต่การเป็นทีมสโมสรฟุตบอลชั้นนำของอังกฤษที่มีตำนานความรุ่งเรืองมากว่า 133 ปี เช่นเดียวกับเสริมสุขที่เป็นบริษัทชั้นนำในเมืองไทยมากว่า 60 ปี
 
มีเป้าหมายการเติบโตคล้ายกัน คือเป็นสโมสรที่แฟนบอลให้ความนิยมติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลก เช่นเดียวกับเสริมสุขที่ต้องการปลุกปั้น “เอส” เป็นน้ำอัดลมของคนไทย และเป็นแบรนด์ระดับโลก รวมทั้งมีสีสัญลักษณ์เหมือนกัน คือสีฟ้า
           
แคมเปญ “เอสฟุตบอลสุดขั้วกับ 5 ปฏิบัติสุดขั้ว” เริ่มจากสุดขั้วที่ 1 จินตนาการสุดขั้ว นำ 4 ขุนพลชื่อดังของทีม  อย่าง ซามีร์ นาสรี, แจ็ค รอดเวลล์, กาเอล คลิชชี, คาร์ลอส เตเบซ โชว์ฟอร์มผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด สุดขั้วที่ 2 ปฏิบัติการ แมน-เอส-เตอร์ ซิตี แชะแอนด์แชร์ ออกตามล่าหาลูกฟุตบอลเอส ถ่ายรูปแอ๊คชั่นท่าต่างๆ ส่งมาลุ้นรางวัล
        
สุดขั้วที่ 3 ไอเท็มสุดโดนในคอลเลกชั่นแมน-เอส-เตอร์ ซิตี จัดทำคอลเลกชั่นสะสม เช่น เสื้อยืด เป้ แก้วน้ำ ที่มีตราสโมสรและโลโกเอส สุดขั้วที่ 4 นิวมีเดียสุดขั้ว โดยกระจายสื่อการตลาด 360 องศา พร้อมสื่อใหม่  เช่น ลูกฟุตบอลยักษ์ที่เอเชียทีค สยามสแควร์ สื่อโฆษณาใต้ทางด่วนพระราม 4 และสุดขั้วที่ 5 บรรจุภัณฑ์สุดขั้ว ดีไซน์บรรจุภัณฑ์เอสโคล่า ลายแมน-เอส-เตอร์ ซิตี ใหม่ยกแผง
 
อย่างไรก็ตาม สงครามน้ำดำในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ดูเหมือนว่า “โค้ก” ในฐานะเจ้าตลาดสามารถสร้างกระแสและกินส่วนแบ่งของคู่แข่งได้เพิ่มขึ้นอีก ไม่เว้นแม้กระทั่งน้องใหม่ร้อนแรงอย่าง “เอส”
 
การเปิดตัวแคมเปญใหม่ “Share a Coke ต้องซ่า ต้องกล้า ส่งโค้กให้” ที่โดนใจคอโคล่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น เกิดเป็นกระแสฮอตฮิตเข้าทุกสื่อ โดยสร้างสรรค์กระป๋องและขวดเพ็ท โค้กรุ่นพิเศษที่ประทับชื่อเล่นคนไทย ถ้อยคำแสดงความสัมพันธ์และความรู้สึกชื่นชม กระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าและลูกค้าใหม่ที่อาจไม่นิยมดื่มโค้กต้องหันมาดื่ม เพื่อหาชื่อขวดหรือกระป๋องโค้กที่มีชื่อเล่นตัวเองหรือถ้อยคำตรงใจ
 
แคมเปญนี้ โค้กเปิดตัวและประสบความสำเร็จอย่างสูงในกว่า 50 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส บราซิล เยอรมนี ออสเตรีย กรีซ และอิสราเอล และประสบความสำเร็จอย่างมากในไทย รวมทั้งเชื่อมโยงกับสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งและมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง โดยจัดรายการสะสมบรรจุภัณฑ์ฉลากพิเศษ ผู้สะสมชื่อและถ้อยคำได้หลากหลายที่สุด 5 อันดับแรก มีสิทธิ์รับรางวัลแพ็กเกจทัวร์พิเศษชมฟุตบอลโลกที่ประเทศบราซิลและบัตรชมคอนเสิร์ตระดับโลกที่ประเทศอังกฤษ พร้อมแพ็กเกจทัวร์ 
 
ต้องถือว่า โค้กทุ่มทุนชนิดหนักหน่วง คิดเฉพาะงบโฆษณาผ่านสื่อหลักๆ ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โรงภาพยนตร์ สื่อกลางแจ้งประเภทบิลบอร์ด ป้ายโฆษณาบนรถไฟฟ้า รถโดยสาร สื่อในห้างค้าปลีก และอินเทอร์เน็ต ข้อมูลจากบริษัท เอซี นีลเส็น พบว่า เครื่องดื่มโค้กติดอันดับ 1 แบรนด์สินค้าที่จับจ่ายงบโฆษณาสูงสุดช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2556 ประมาณ 892 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 639 ล้านบาท
 
ขณะเดียวกัน บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) ใช้งบโฆษณามากกว่า 1,281 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนที่ใช้งบรวม 1,099 ล้านบาท  ติดอันดับ 5 ของบริษัทที่มีการใช้จ่ายงบโฆษณาสูงสุด คือ ยูนิลีเวอร์ไทย โฮลดิ้งส์ 5,015 ล้านบาท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 1,799 ล้านบาท ไบเออร์สดร็อฟ (ประเทศไทย) 1,568 ล้านบาท และพีแอนด์จี 1,412 ล้านบาท ขณะที่คู่แข่ง ไม่ว่าเอส เป๊ปซี่ หรือบิ๊กโคล่า ไม่ได้ติดอยู่ในกลุ่มท็อปเท็นบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดแต่อย่างใด 
 
ส่วน “เป๊ปซี่” ที่ขอฟื้นคืนชีพ ใช้กลยุทธ์ปรับโฉมแพ็กเกจจิ้งใหม่ “เป๊ปซี่ สลิม” ขนาด 245 มิลลิลิตร  แทนขนาดกระป๋องอ้วน 325 มิลลิลิตร และลดราคาจาก 14 บาท เหลือ  12 บาท  และเร่งทำตลาดขวดเพ็ทมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากปัจจุบันตลาดน้ำอัดลมไทยแยกเป็นตลาดขวดเพ็ทเกือบ 70% กระป๋อง 10% ขณะที่ขวดแก้วอยู่ที่ 25-30% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
 
ล่าสุด บริษัทแม่เป๊ปซี่วางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในอาเซียน ประกาศเพิ่มงบลงทุนช่วง 4 ปีจนถึงปี 2558 รวม 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 18,000 ล้านบาท มีทั้งการสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่นิคมฯ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว และเปิดกลยุทธ์ “Power of One” ผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มเครื่องดื่มกับขนมขบเคี้ยว ในการทำกิจกรรมการตลาด แชร์ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้บริโภค 40% รับประทานขนมขบเคี้ยวคู่กับน้ำอัดลม
 
นอกจากนี้ ใช้งบ 400 ล้านบาท เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับสโมสร “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มในระดับภูมิภาค ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา ลาว และบรูไน
 
เมื่อเร็วๆ นี้ เป๊ปซี่ยังนำแบรนด์ “เมาเทนดิว” เข้ามาเสริมพอร์ตสินค้ากลุ่มน้ำสี จากปัจจุบันที่มีน้ำแดง เขียว ส้มและเลมอนเนตเหมือนกัน เป้าหมายเพื่อขยายตลาดน้ำสีที่มีสัดส่วนเพียง 30% ของตลาดรวมให้เพิ่มเป็น 50% เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปากีสถาน เพราะหลังจากเปิดตัวเมาเทนดิว สามารถพลิกให้ตลาดน้ำสีกลายมาเป็นตลาดใหญ่ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า เป๊ปซี่ที่ยังเร่งแชร์ตลาดน้ำดำไม่ขึ้น เมาเทนดิวจะเป็นส่วนแบ่งใหม่ที่ช่วยไล่บี้คู่แข่งได้
  
สารพัดกลยุทธ์การตลาด สงครามน้ำอัดลมสุดซาบซ่าที่มีตำแหน่ง “แชมป์” เป็นเดิมพัน การช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด เป้าหมายของเอส โค้ก เป๊ปซี่ หรือบิ๊กโคล่า วันนี้ไม่ใช่แค่แชมป์ตลาดไทย แต่ยังหมายถึงแชมป์อาเซียนและแชมป์เอเชียด้วย

 

 

Category: 

มองทุนจีนผ่านธุรกิจสื่อ ดึง “ซิงเสียนเยอะเป้า” สู่ AEC

$
0
0

 

บรรดาหนังสือพิมพ์จีนในประเทศไทยที่มีอยู่ 5-6 หัว “ซิงเสียนเยอะเป้า” นับเป็นหนังสือพิมพ์จีนที่มีประวัติยาวนานที่สุด และเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนที่มียอดขายสูงที่สุดในประเทศไทย ในอดีตหนังสือพิมพ์จีนฉบับนี้ได้รับความนิยมสูงจนได้ชื่อว่าเป็น “ไทยรัฐ” ภาคภาษาจีน แต่ช่วงหลังการอ่านหนังสือพิมพ์จีนค่อยๆ ลดลงพร้อมกับความนิยมในหัวหนังสือพิมพ์จีนเหล่านั้น

กระทั่งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซิงเสียนเยอะเป้ากลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน คนจีนในเมืองไทย องค์กรการค้าการลงทุนและสมาคมชาวจีน รวมถึงบริษัทและห้างร้านเชื้อสายจีนอีกครั้ง เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าแก่นี้ประกาศร่วมทุนกับ “หนานฟาง” กลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน
 
ซิงเสียนเยอะเป้าก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2493 โดย หู เหวิน หู่ และหู เหวิน เป้า สองพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลผู้มีชื่อเสียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเจ้าของกิจการยาหม่องตราเสือ กิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าตกทอดมาสู่ลูกหลานตระกูลหูเรื่อยมาก กระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 “สดาวุธ เตชะอุบล” ประธานกรรมการบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทกโอเวอร์

“ผมเข้ามาเทกโอเวอร์เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นหนังสือพิมพ์จีนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ผมเข้ามาเพื่อปรับปรุงให้ซิงเสียนเยอะเป้ามีเทคโนโลยี มีเนื้อหา และมีกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น และทันสมัยมากขึ้น” สดาวุธกล่าว

การปรับตัวของซิงเสียนเยอะเป้าในครั้งนั้น เริ่มจากการสร้างสำนักงานใหม่ และจ้างมืออาชีพ (outsouce) ดูแลการผลิต ว่าจ้างผู้บริหารใหม่จากจีน และขยายช่องทางขาย โดยเฉพาะการเข้าร้าน 7-11 สายการบินไทยและสายการบินจีน และโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีน เป็นต้น รวมถึงการเป็นหนังสือพิมพ์จีนฉบับแรกของเมืองไทยที่ใช้อักษรจีนแบบย่อ

“เพื่อพัฒนาซิงเสียนเยอะเป้าให้เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่ยิ่งใหญ่ ทันสมัย และมีคุณภาพ เพื่อขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งของไทย และในอนาคตอันใกล้ เรายังมีเป้าหมายจะเป็นหนังสือพิมพ์จีนอันดับหนึ่งในภูมิภาค ดังนั้นเราจึงต้องร่วมทุนกับสื่อจีนยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มหนานฟาง เพราะถ้าให้คนไทยทำเอง ยังไงก็คงสู้เขาไม่ได้” สดาวุธยอมรับว่าการหานายทุนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว ตั้งแต่แรกเริ่ม

หนานฟาง มีเดีย กรุ๊ป ถือเป็นกลุ่มสื่อยักษ์ใหญ่อันดับต้นของจีน ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2492 โดยพัฒนามาจากหนังสือพิมพ์หนานฟางรายวันของหน่วยงานรัฐบาลในมณฑลกวางตุ้ง ปัจจุบัน มีหนังสือพิมพ์ในเครือทั้งหมด 14 ฉบับ มีนิตยสาร 9 เล่ม มี 6 เว็บไซต์ และอีก 1 สำนักพิมพ์ โดยกลุ่มหนานฟางได้รับการจัดอันดับอยู่ใน “500 แบรนด์ที่มีคุณค่ามากที่สุดของจีน” และเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์จีน

“สิ่งที่หนานฟางจะเอามาให้เราคือประสบการณ์ ความรู้ และระบบการบริหารจัดการในธุรกิจสื่อ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ๆ ของจีนที่ต้องการโฆษณาระหว่างประเทศ หรือกลุ่มธุรกิจที่จะขยายเข้ามาในภูมิภาคนี้ บริษัทเหล่านี้ก็จะเข้ามาโฆษณากับเราด้วย อีกด้านก็คือ บริษัทของไทยที่ต้องการทำธุรกิจกับคนจีนต้องการขยายการรับรู้ (Awareness) ไปสู่ลูกค้าจีน เขาก็จะมาลงโฆษณากับเราเพิ่มขึ้น”

ทอมมี่ เตชะอุบล บุตรชายของสดาวุธ และเป็นประธานกรรมการบริหารของซิงเสียนเยอะเป้า กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มหนานฟางได้ส่งผู้บริหารชาวจีนเข้ามา 6 คน เพื่อมานั่งคุมทุกสายงานในซิงเสียนเยอะเป้า 

ในอีกไม่นาน ซิงเสียนเยอะเป้าจะมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และนิตยสาร รวมถึงรายการโทรทัศน์และสื่อใหม่ (new media) ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ และในอนาคตอาจจะได้เห็นซิงเสียนเยอะเป้าออกไปวางขายในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือร่วมทุนกับหนานฟางเพื่อตั้งกิจการสื่อจีนในประเทศเพื่อนบ้าน 

“ผมเชื่อว่าโอกาสจาก AEC จะทำให้มีจำนวนคนที่ใช้ภาษาจีนเข้ามาเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ของเรา คือนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเมืองไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจกับเมืองไทย และคนต่างชาติที่เรียนภาษาจีน ซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ทอมมี่กล่าว

ทั้งนี้ หวงเสี่ยวตง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท หนานฟางมีเดีย กรุ๊ป จำกัด เล่าว่า หลังจากที่หัวเรือใหญ่ของซิงเสียนเยอะเป้าชักชวนให้ร่วมทุน เขามีความสนใจทันที ส่วนหนึ่งเพราะประวัติศาสตร์และการปรับใช้อักษรจีนแบบย่อ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือ การที่กลุ่มธุรกิจจีนและนักท่องเที่ยวคนจีนที่ให้ความสนใจเมืองไทยมากขึ้น โดยเขามองว่าในอนาคต เขาอาจนำซิงเสียนเยอะเป้าไปขายในจีนด้วย 

ปัจจุบันกลุ่มหนานฟางถือหุ้นในซิงเสียนเยอะเป้า 20% โดยตั้งเพดานไว้ที่ 30% โดยทอมมี่กล่าวว่าอาจจะมีการเพิ่มทุนอีกครั้งในปีหน้า เพื่อผลักดันบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยก่อนหน้านี้มีคู่แข่งสำคัญอย่าง “ตงฮั้ว” หนังสือพิมพ์จีนรายวันอายุกว่า 40 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ไปก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่คือ วิชัย ทองแตง 

ไม่เพียงธุรกิจสื่อ กลุ่มหนานฟางยังมีธุรกิจตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ กิจการธนาคารและการเงิน และธุรกิจผลิตหนังสั้นให้กับสถานีโทรทัศน์ในเมืองจีน

บางทีขณะที่เรากำลังจับตาดูความเติบโตของซิงเสียนเยอะเป้าอย่างใกล้ชิด เราอาจได้เห็นความร่วมมือระหว่างหนานฟางและ “เตชะอุบล” ในธุรกิจอื่น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งนักธุรกิจจีนให้ความสนใจลงทุนในเมืองไทยเป็นของแถมก็ได้


 

Category: 

CPN เป่านกหวีดจัดเต็ม สกัด “เม-ญ่า-พรอเมนาดา”

$
0
0

 

แม้ค่าย “เอสเอฟซีเนม่า” ประกาศเลื่อนโครงการไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ “เม-ญ่า” (MAYA) จากแผนที่จะเผยโฉมเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคมไปเป็นเดือนมกราคมปีหน้า แต่การเปิดตัว “เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่” ของกลุ่มเซ็นทรัลเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เพิ่มความร้อนแรงส่งท้ายปีอย่างดุเดือด

โดยเฉพาะแผนสกัดคู่แข่งดาวรุ่ง “พรอเมนาดา รีสอร์ท มอลล์” ของกลุ่มทุนเนเธอร์แลนด์และเร่งช่วงชิงฐานลูกค้าตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” ที่มีทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต  และเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว ฝังตัวยึดหัวหาดตลาดมานานเกือบ 20 ปี
 
ปัจจุบัน หากเปรียบเทียบศูนย์การค้าทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่  “เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่” ถือเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2ของภาคเหนือ รองจากอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว มีเนื้อที่รวม 68 ไร่ อยู่บนทำเลสี่แยกถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด  

ตัวโครงการสร้างเป็นห้างสรรพสินค้า สูง 6 ชั้น พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดกว่า 250,000 ตารางเมตร  การออกแบบสไตล์ฟิวเจอร์ริสติกล้านนาล้ำสมัย ประกอบด้วยร้านค้าปลีกกว่า 250 ร้านค้า มีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาที่  2 ในเชียงใหม่และร้านอื่นๆ ในเครือเซ็นทรัล ทั้งเพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ออฟฟิศเมท เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ และต้องการชูจุดขายของศูนย์ในฐานะแหล่งรวมแบรนด์แฟชั่นที่ยังไม่เคยเปิดตัวในพื้นที่ภาคเหนือมาก่อน เช่น  Zara, H&M ตามแนวคิด Fashion Capital ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ    
 
ในส่วนร้านอาหารทั้งแบบ Indoor และ Outdoor  มีมากกว่า  60 ร้าน และเปิดโซน “ไดน์นิ่ง ไลฟ์สไตล์ แอนด์ แกสโตร บาร์ แลนด์มาร์ค” รวบรวมร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในยามค่ำคืน นอกจากนี้ จับมือเครือเมเจอร์ซีนิเพล็กซ์ เปิดโรงหนังแบบมาตรฐาน 10 โรงและโรงภาพยนตร์ IMAX 3 มิติ       
       
ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอ็น” กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีกำลังซื้อและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในอนาคตยังมีศักยภาพก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยทำให้ซีพีเอ็นตัดสินใจลงทุนดำเนินโครงการเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ภายใต้จุดขายที่คัดสรรสิ่งที่เป็นที่สุดในทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก
 
ทั้งนี้  เซ็นทรัลเฟสติวัลตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้า 70% เป็นลูกค้าในท้องถิ่น อีก 30% เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยคาดการณ์ผู้ใช้บริการวันละ 60,000-70,000 คน โดยวาง Positioning ให้เซ็นทรัลเฟสติวัลจับกลุ่มลูกค้าระดับบน กลุ่มลูกค้าไลฟ์สไตล์ พื้นที่เป้าหมายฝั่งทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น มาจาก อ.แม่ริม และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
 
ส่วนเซ็นทรัล พลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เน้นกลุ่มลูกค้ากลุ่มครอบครัว ระดับกลาง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายฝั่งทางใต้ เช่น อ.หางดง และนักท่องเที่ยวบริเวณสนามบินที่ต้องการจับจ่ายสินค้าก่อนขึ้นเครื่องหรือหลังลงจากเครื่องแล้ว
 
สำหรับเซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต สร้างในพื้นที่เดิมของห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ แอร์พอร์ต พลาซ่า ซึ่งซีพีเอ็นซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี  2539 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 180,000 ตารางเมตร มีห้างสรรพสินค้าโรบินสันและร้านค้าประมาณ 500 ร้าน  โดยถือเป็นศูนย์ที่สร้างรายได้ค่าเช่าติดอันดับต้นๆของซีพีเอ็น เฉลี่ยปีละ 800 ล้านบาท

อัตราการเช่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 99.4% ระดับค่าเช่าเติบโตสูงมากใกล้เคียงกับอัตราค่าเช่าพื้นที่ในกรุงเทพฯ และมีศักยภาพในการปรับค่าเช่าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติปรับเพิ่มเฉลี่ย 7% เนื่องจากมีการลงทุนปรับปรุงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

เฉพาะปลายปีนี้จนถึงปีหน้า ซีพีเอ็นวางแผนดึงแบรนด์ต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติมหลังจากดึง “ยูนิโคล่” เข้ามาเปิดสาขาได้แล้ว เตรียมเปิดตัว “โฮมเวิร์ค” คอนเซ็ปต์ใหม่และเป็นโครงการที่มีคอนเวนชั่นฮอลล์ขนาดใหญ่ พื้นที่ 3,000 ตร.ม.
 
ล่าสุด ซีพีเอ็นนำโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท เข้ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท หรือ “CPNRF” เพิ่มเติมจากสินทรัพย์ที่นำเข้าไปก่อนหน้านี้ คือโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพระราม 2 โครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 3 และโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ถือเป็นโครงการต่างจังหวัดตัวแรกที่ซีพีเอ็นตั้งเป้าหมายผลักดันรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
 
ส่วนห้างเซ็นทรัลกาดสวนแก้ว ซึ่งบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด เช่าพื้นที่อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว เพิ่งฉลองวาระการเปิดให้บริการครบ 21 ปี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเน้นให้บริการกลุ่มคนในเมือง แม้การเติบโตเหมือนอยู่ในภาวะ “ทรงๆ” แต่เป็นกลุ่มตระกูลเก่งการค้า เจ้าของศูนย์การค้ากาดสวนแก้วกำลังเร่งปรับปรุงพื้นที่ศูนย์การค้าทั้ง 10 ชั้น กว่า 290,000 ตร.ม. เพื่อเปิดโฉมใหม่เต็มรูปแบบในปี 2558

แน่นอนว่า สภาพตลาดค้าปลีกใจกลางเมืองเชียงใหม่จะพลิกโฉมเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการผุดศูนย์การค้าเม-ญ่า ของบริษัท บริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด ซึ่งสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์  ตั้งเป้าสร้างแลนด์มาร์คใหม่ โดยพัฒนาสี่แยกรินคำ ถนนนิมมานเหมินท์ แบบเดียวกับช้อปปิ้งสตรีทย่านราชประสงค์ ประกอบด้วยศูนย์การค้าเม-ญ่า เนื้อที่ 9 ไร่ คอมมูนิตี้มอลล์ของตัน ภาสกรนที เนื้อที่ 5 ไร่ คอมมูนิตี้มอลล์เครือโรงแรมอมารี 11 ไร่ และอีกมุมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ของกลุ่มทุนท้องถิ่นที่เตรียมแผนพัฒนาโครงการใหญ่เช่นกัน
 
ตัว “เม-ญ่า” นั้น เอสเอฟวางตำแหน่งเป็น Lifestyle Shopping Mall คอนเซ็ปต์ดีไซน์ “Vertical Nimman” หรือ “นิมมานแนวตั้ง” คือการตกแต่งภายในที่จะทำให้สัมผัสถนนนิมมานเหมินท์ในมิติใหม่ พื้นที่ค้าปลีกกว่า 80,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ร้านค้าปลีก 35,000 ตร.ม. จำนวน 220 ร้านค้า จำนวน  6 ชั้น

เริ่มจาก Strolling Mart เป็นพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและแผนกTake Home, Cosmo Boullevard ศูนย์รวมแฟชั่นและผลิตภัณฑ์ความงามแบรนด์ดังระดับเวิลด์คลาสจากทั่วทุกมุมโลก, Stylish Avenue รวมสินค้าเทรนด์แฟชั่นและเครื่องประดับ, Digitech Street รวมสินค้าเทคโนโลยีและGadgetธนาคาร และร้านหนังสือ, Food Bazaar รวมอาหารนานาชาติ และร้านอาหารไลฟ์สไตล์ ฟู้ด วิลเลจ

อีก 2 ชั้น ซึ่งเป็นไฮไลต์ คือ Cinematic Arena เป็นพื้นที่ของโรงภาพยนตร์ระดับเวิลด์คลาส SFX Cinema จำนวน 10 โรง และ Nimman Hill เป็นจุดชมวิวเมืองเชียงใหม่แบบพาโนรามา

ขณะเดียวกัน เอสเอฟฯ ยังผนึกกับ “พรอเมนาดา รีสอร์ท มอลล์” ซึ่งยึดทำเลออกนอกเมือง ถนนเชียงใหม่-สันกำแพงตัดใหม่ เพื่อเปิดตลาดอีกด้านหนึ่ง เพราะถือเป็นย่านเมืองใหม่ที่กำลังเติบโตและมีผู้คนเข้าอยู่อาศัยมากขึ้น โครงการที่อยู่อาศัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย โดยเข้าไปเปิดโรงภาพยนตร์ดิจิตอลและดิจิตอล 3 มิติ รวม 8 โรง พื้นที่กว่า 4,500 ตร.ม. ภายใต้แนวคิดนครแห่งภาพยนตร์ที่ผสานความพักผ่อนกับกิจกรรมไลฟ์สไตล์

ตัว “พรอเมนาดา” ของ “อีซีซีกรุ๊ป” กลุ่มทุนเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเปิดตัวเฟสแรกเมื่อเดือนมิถุนายนและเฟส  2 เมื่อเดือนกรกฎาคม นอกจากจุดต่างในแง่ตัวศูนย์ เน้นความเป็นชอปปิ้งมอลล์สไตล์รีสอร์ต สร้างบรรยากาศกลางแจ้งในสัดส่วนเท่ากันกับพื้นที่ในร่มตามพฤติกรรมของคนเชียงใหม่ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นสบาย โดยสร้างอาคารเพียง 3 ชั้น เป็นพื้นที่ในอาคารเพียง 50,000 ตร.ม. ที่เหลือใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านนอกทั้งหมดจากเนื้อที่ทั้งหมด 58 ไร่

ที่ผ่านมา อีซีซีกรุ๊ปพยายามสร้าง “จุดต่าง” เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งแบรนด์แฟชั่น ร้านของเล่น “ทอยอาร์อัส” เปิดลานสเกตน้ำแข็งขนาดใหญ่กว่า 720 ตร.ม. แห่งแรกในภาคเหนือ

ดึงบริษัท ตันตราภัณฑ์ซุปเปอร์มาเก็ต (1994) จำกัด ผู้พัฒนา “ริมปิงซูเปอร์สโตร์” ซูเปอร์มาร์เก็ตยอดนิยมของเชียงใหม่ที่รวมผลิตภัณฑ์จากทั่วมุมโลก เข้ามาเช่าพื้นที่เปิดซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ รวมถึง “ชิชาง” ร้านคอมพิวเตอร์และไอทีที่รู้จักกันดีในเชียงใหม่ เข้ามาเปิดศูนย์ไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาด 2,600 ตารางเมตร เพื่อสกัดคนไม่ต้องเดินทางเข้าตัวเมือง

ขณะเดียวกันกิจกรรมการตลาดมีความเป็นนิช (Niche) เช่น การจับมือกับเอสเอฟ ซีเนม่า จัดเทศกาลภาพยนตร์ยุโรป (European Union Film Festival) ฉายภาพยนตร์เรื่องเยี่ยม 18 เรื่องจากประเทศกลุ่มยุโรป โดยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำเดือนของพรอเมนาดาที่จะจัดหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี 

ถือว่า เอสเอฟฯ กับอีซีซีกรุ๊ปจัดเป็นพันธมิตรทางธุรกิจชนิด “วิน-วิน” ทั้งคู่ มีการแบ่งแยกตลาดและกลุ่มลูกค้าระหว่าง “เม-ญ่า” กับ “พรอเมนาดา” อย่างลงตัว สามารถแบ่งปันแม็กเน็ต และในอนาคตสามารถแลกเปลี่ยนกิจกรรมการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าทั้งในและนอกเมือง

ส่วนกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะผู้ยึดหัวหาดเก่าอาจมีข้อได้เปรียบในแง่พื้นที่ โดยเฉพาะการวางหมากศูนย์สกัดกั้นในทำเลด้านเหนือและใต้ กวาดกลุ่มนักท่องเที่ยวตั้งแต่สนามบิน

แต่สำหรับ “เชียงใหม่” เมืองท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของโลก เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศไทย และอันดับ 1 ของภาคเหนือ มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดมากกว่า 40,000 ล้านบาท ประชากร 1.7 ล้านคน มีกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อจาก 5 จังหวัดข้างเคียง คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก กว่า 2 ล้านคนต่อปี และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเฉลี่ย 5 ล้านคนต่อปี
 
อนาคตเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ “เออีซี” ในปี 2558 เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้ารางคู่ ผู้คนจากทั่วสารทิศจะหลั่งไหลเข้ามาอีกมาก ไม่ใช่แค่คนจีน ญี่ปุ่นที่แห่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณ เม็ดเงินจำนวนมหาศาล
 
ไม่ว่าเจ้าใหม่หรือเจ้าใหญ่ เจ้าเก่า อย่าง “เซ็นทรัล” ไม่มีใครยอมแพ้ในสมรภูมิค้าปลีกนี้แน่

 

Category: 

ความหวังครั้งใหม่ บนธุรกิจเก่าของ SAMART

$
0
0


“ธุรกิจอื่นอาจล้มได้ แต่ธุรกิจนี้ล้มไม่ได้ นับตั้งแต่ปีหน้า เราจะกลับมารุกในธุรกิจแรกเริ่มของกลุ่มสามารถที่คุณพ่อก่อตั้งไว้ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง”

คำกล่าวของ วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART หลังเสร็จสิ้นงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2556 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. พร้อมกับใช้โอกาสนี้แถลงข่าวเปิดจำหน่ายเสาอากาศและกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี (Set Top Box) อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีขึ้นในวันถัดไป

“ธุรกิจดั้งเดิมของ SAMART ที่ทำมาเกือบ 60 ปี คือธุรกิจเสาอากาศและจานดาวเทียม แม้ว่ากว่าช่วง 5 ปีมานี้ ธุรกิจจานดาวเทียมของเราอาจจะไม่ได้เป็นพระเอกเหมือนตอนแรก แต่เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนเทคโนโลยีมาสู่ทีวีดิจิตอล ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเสาอากาศที่ SAMART มีชื่อเสียงกลับมา นี่ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะกลับมาให้ความสำคัญกับธุรกิจบรรพบุรุษอย่างจริงจังอีกครั้ง”

อาณาจักรของกลุ่ม SAMART วันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจร้านให้บริการซ่อมนาฬิกา วิทยุ และติดตั้งเสาอากาศวิทยุ โทรทัศน์ ที่จังหวัดสระบุรี ก่อนจะขยายกิจการไปสร้างโรงงานผลิตเสาอากาศโทรทัศน์ ในปี 2509 โดยเชิดชัย วิไลลักษณ์ ผู้เป็นบิดาของวัฒน์ชัย

ผ่านมานานถึง 58 ปี วัฒน์ชัยเชื่อว่า ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า โทรทัศน์ระบบอนาล็อกจะถูกเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบทีวีดิจิตอลทั้งหมด โดยช่วง 3-4 ปีจากนี้ น่าจะมีครัวเรือนไทยไม่ต่ำกว่า 22 ล้านเรือน ที่เปลี่ยนมาสู่ระบบดิจิตอลทีวี ขณะที่ค่าเฉลี่ยเครื่องรับสัญญาณต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.8-2 เครื่อง หากราคาขั้นต่ำต่อเครื่องอยู่ที่ 1 พันบาท ดังนั้น ตลาดเครื่องรับสัญญาณสำหรับทีวีดิจิตอลในอนาคตอันใกล้น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว

ด้วยเล็งเห็นมูลค่าตลาดที่มีขนาดใหญ่ บวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของบริษัท กลุ่ม SAMART ในนามของบริษัท สามารถวิศวกรรม จึงได้ซุ่มวิจัยพัฒนาเสาอากาศและเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลมานานหลายปี ก่อนการประกาศตัวเข้ามารุกตลาดและเปิดจำหน่ายเซตกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีเป็นรายแรกของเมืองไทย

“ตอนนี้โรงงานทำเสาอากาศในเมืองไทย เหลือสามารถวิศวกรรมของเรากับสากลแอนเทนน่าที่เกิดมาพร้อมกัน นอกนั้นล้มหายตายจากไป บ้างก็ไปทำจานดาวเทียมหมด มาถึงวันนี้ เราพร้อมขายก่อนคนอื่น ฉะนั้นธุรกิจนี้จึงเป็นโอกาสครั้งใหม่ของเรา” วัฒน์ชัยกล่าว พร้อมระบุเป้ายอดขายจนถึงเดือนมกราคม 2557 น่าจะไม่ต่ำกว่า 2 แสนกล่อง

ไม่เพียงการผลิตอุปกรณ์สำหรับทีวีดิจิตอล กลุ่ม SAMART ยังมีความหวังใหม่ในธุรกิจด้านคอนเทนต์ (Content) ของกลุ่ม ด้วยการเข้าร่วมประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอลสำหรับผลิตรายการข่าวกีฬา ในนามของบริษัท i-Sport ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ “สยามสปอร์ต ซินดิเคท” พันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับกีฬาป้อนให้กับ i-Mobile มายาวนาน

นอกจากธุรกิจเสาอากาศที่จะกลับมาเป็น “ดาวรุ่ง” ให้กับเครือในปี 2557 อีกธุรกิจที่วัฒน์ชัยมองว่าน่าจะสร้างรายได้และกำไรก้อนโตให้กับกลุ่มในปีหน้า คือ ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ (i-Mobile) ของ บมจ.สามารถไอ-โมบาย หรือ SIM จากผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ SIM มีกำไรสูงกว่า 530% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไร 9 เดือนสูงกว่ากำไรตลอดปี 2555 และโตกว่า 760% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่รายได้ของไตรมาส 3 ปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 1 พันล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีรายได้ทะลุหมื่นล้านบาท ขณะที่ปีก่อนจบเพียงแค่กว่า 7 พันล้านบาทเท่านั้น

“ผลประกอบการปีนี้ถือว่าเป็นปีที่กำไรเยอะที่สุดตั้งแต่ i-Mobile ถือกำเนิดมา จากช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างเหนื่อยมากกับการแข่งขันในตลาดมือถือที่รุนแรง แต่หลังจากที่เราได้วางกลยุทธ์ใหม่ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยหันมาเน้นสมาร์ทโฟนมากขึ้น ก็เห็นผลชัดว่า กำไรและยอดขายเพิ่มขึ้นมากมาย”  

จนถึงสิ้นปี วัฒน์ชัยคาดว่าจะมียอดขาย i-Mobile ราว 3.6 ล้านเครื่อง จากปีก่อนที่จำหน่ายได้ราว 4.08 ล้านเครื่อง แม้จะมีจำนวนเครื่องน้อยกว่า แต่ด้วยราคาเฉลี่ยต่อเครื่องที่สูงขึ้นจาก 2 พันต้นๆ มาอยู่ที่ 2,889 บาท ก็น่าจะทำให้ยอดขายและกำไรในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ อาทิตย์สุดท้ายของเดือนนี้  i-Mobile ยังมีกำหนดเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นที่เป็นไฮไลต์อีก 2-3 รุ่น โดย 1 ในนั้นจะมีรุ่นที่ราคาสูงกว่า 1 หมื่นบาท เป็นครั้งแรกของ i-Mobile

ขณะที่ธุรกิจ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือธุรกิจผู้ให้บริการเลขหมายมือถือที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง ก็นับเป็นอีกธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากสำหรับกลุ่ม SAMART

โดย SAMART ถือเป็นผู้ให้บริการ MVNO รายใหญ่ที่สุดของเครือข่าย 3G ของทีโอที ปัจจุบันมีสมาชิกที่ใช้ซิม i-Mobile 3GX ราว 4 แสนคน เพิ่มจากต้นปีที่มีผู้ใช้เพียง 8 หมื่นราย และคาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 5-6 แสนรายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากบริษัทมีการผูกขาย (bundle) “คอนเทนต์” ที่ร่วมกับสยามสปอร์ตฯ ไปกับซิมและเครื่องของ i-Mobile ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อโครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที แล้วเสร็จ น่าจะทำให้ยอดสมาชิกของ i-Mobile เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งจำนวนเครื่องและปริมาณการใช้บริการดาต้า (data)

ขณะที่การถือหุ้นเอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) ของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ราว 30% ซึ่งมีธุรกิจหลักคือการจำหน่ายโทรศัพท์ Nokia จะเป็นอีกทางที่ช่วยกระจายซิม i-Mobile 3GX และเป็นช่องทางเสริมสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจ MVNO ให้กับ SAMART โดย MLINK จะเป็นผู้ให้บริการ MVNO บนเครือข่าย 3G ของ กสท.โทรคมนาคม

สำหรับธุรกิจ ICT Solutions & Service ของ บมจ. สามารถเทลคอม หรือ SAMTEL ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 45% ของรายได้ทั้งหมด ในไตรมาส 3 มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ เป็นมูลค่ารวม 1,557 ล้านบาท ตลอด 9 เดือน มีการเซ็นสัญญาเพิ่มเติมราว 4.5 พันล้านบาท

ปัจจุบัน SAMTEL มีโครงการในมือมูลค่าทั้งสิ้นราว 7 พันล้านบาท โดยไตรมาสสุดท้ายของปี มีงานรอการประมูลอีกกว่า 40 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6.5 พันล้านบาท

SAMTEL ถือเป็นผู้นำในการให้บริการวางระบบและดูแลโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยรายได้หลักมาจากลูกค้าในส่วนรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ทีโอที กสท. โทรคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ฯลฯ 

วัฒน์ชัยระบุว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค. จนถึงวันแถลงข่าว SAMTEL มีการเซ็นสัญญาไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านบาท ล่าสุดคือ การเพิ่งเซ็นสัญญากับวิทยุการบินแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 1.7 พันล้าน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. โดยเวลาอีกเดือนกว่า ยังมีสัญญาที่ต้องเซ็นกับกรมตำรวจอีกหลายสัญญา

นอกจากการเซ็นสัญญากับหน่วยงานภายในประเทศ กลุ่ม SAMART ยังมีแผนที่จะรุกธุรกิจไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันไม่เพียงธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศในกัมพูชา พม่า และลาว กลุ่ม SAMART ในนามบริษัท One To One กำลังอยู่ระหว่างยื่น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI เพื่อระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ Call Center ไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในธ.ค. ปีนี้ หรือ ม.ค. ปีหน้า   

ทั้งนี้ รายได้ตลอด 9 เดือนของทั้งเครือ SAMART แตะอยู่ที่ 16,778 ล้านบาท โดยวัฒน์ชัยคาดว่า ทั้งปีรายได้น่าจะแตะแค่ระดับ 2.3-2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าทำได้จริง ซึ่งนี่จะเป็นการทะลุยอดขาย 2 หมื่นล้านบาท ในรอบหลายปี แต่ก็ยังไม่ถึงเป้า 3 หมื่นล้านบาท ที่แม่ทัพแห่ง SAMART ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี

โดยความผิดหวังครั้งนี้มาจากความล่าช้าในการประมูลโครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที ซึ่งคาดว่าน่าจะรับรู้รายได้ราว 5-6 พันล้านบาท โดยรายได้ก้อนนี้น่าจะเข้าไปรับรู้อยู่ในไตรมาส 1 ปีหน้าแทน

ตั้งแต่ปี 2549 ที่กลุ่ม SAMART สร้างรายได้สวยงามด้วยยอดกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท จากนั้นมาก็ดูเหมือนว่าการจะไปยืนอยู่ที่ “เป้า” ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน โดยในปี 2550 รายได้ของเครือหล่นลงมาอยู่ที่ 19,649 ล้านบาท จากนั้นรายได้ก็วิ่งอยู่ระหว่าง 1.6-1.73 หมื่นล้านบาท ยกเว้น ปี 2554 ที่รายได้สูงถึง 19,964 ล้านบาท 

ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์มองว่า เหตุที่มาของรายได้ทะลุ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2549 ของ SAMART ส่วนหนึ่งอาจมาจากสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างตระกูลวิไลลักษณ์กับตระกูลชินวัตร ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นก็คือ รัฐบาลทักษิณ

ขณะที่วัฒน์ชัยระบุว่า บทเรียนของภาวะรายได้ถดถอยในช่วง 3-4 ปีหลังปี 2549 น่าจะมาจากการที่กลุ่มบริษัท ไม่มีรายได้ประจำที่คอยหล่อเลี้ยง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคม

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารแห่ง SAMART จึงพยายามใช้กลยุทธ์สร้างรายได้ระยะยาวให้มากขึ้น เพื่อเป็นรายได้ประจำและฐานรายได้ที่มั่นคงให้กับเครือ โดยมีภาพลักษณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงของกลุ่มบริษัทที่ยังไม่อาจมองข้าม ตราบที่สถานการณ์บ้านเมืองยังแบ่งขั้วอย่างชัดเจนเช่นนี้!
 

Category: 

มองลอดเลนส์ตลาดแว่นไทย แข่งขันสูงเพื่อ 1 หมื่นล้าน

$
0
0

 

ตลาดแว่นตาในประเทศไทยมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในปัจจุบัน จากผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ อาทิ เช่น ท็อปเจริญ  บิวตี้ฟูล หอแว่น ฯลฯ ในขณะที่ตลาดแว่นตาเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่องมีมูลค่าตลาดประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 8-10% ปี  
 
แม้ปีนี้ภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา ทำให้ตลาดแว่นตาเติบโตเพียง 5% ก็ตาม แต่เหล่าบรรดาร้านแว่นแบรนด์ต่างๆ อัดแคมเปญและกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ครองความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดแว่นตาของกลุ่มท็อปเจริญ ที่ปูพรมด้วยจำนวนสาขากว่า 1 พันสาขาทั่วประเทศ ในขณะที่เคที ออฟติคก็มีการรุกตลาดแว่นตา โดยมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 20 สาขา
 
จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดแว่นตาไทยประกอบกับพฤติกรรมของลูกค้าในปัจจุบัน ไปทางเดียวกับเทรนด์โลกที่ต้องการแว่นสายตาที่มีดีไซน์เป็นแฟชั่นมากขึ้น เป็นเหตุผลที่ตลาดแว่นตาไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี
 
ล่าสุด หอแว่นเปิดตัวแบรนด์ POLICE แบรนด์ดังจากอิตาลี การันตีด้วยรูปแบบดีไซน์ คุณภาพและความเก่าแของแบรนด์ที่มีมากว่า 30 ปี จนเป็นที่ยอมรับของชาวยุโรปและอเมริกา จากแว่นคุณภาพที่ผลิตในประเทศอิตาลีทั้งหมด และมีความโดดเด่นด้านดีไซน์ เบา กรอบแว่นเข้ากับรูปหน้าคนเอเชีย พร้อมกับทุ่มงบการตลาด 15 ล้านบาท โดยหอแว่นเชื่อมั่นว่า แบรนด์นี้จะโดนใจตลาด พร้อมกระตุ้นยอดขายได้อย่างงดงาม 
 
“ในปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปัญหาบ้านหลังแรก รถคันแรก ชนชั้นกลางกำลังซื้อหายไป แต่เชื่อว่าปีหน้ารัฐบาลมีการลงทุนมากมาย เศรษฐกิจจะดีขึ้น และมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น” ภาคี ประจักษ์ธรรม  กรรมการผู้จัดการ บริษัท หอแว่น กรุ๊ป จำกัด  กล่าว
 
หอแว่นครองตลาดแว่นตาอันดับ 2 ของไทย ด้วยมาร์เก็ตแชร์10-15% ของมูลค่าตลาดรวม โดยมีกลุ่มเป้าหมายทุกเซกเมนต์ และในปัจจุบันได้นำเข้าแว่นตากว่า 30 แบรนด์  ด้วยจำนวนสาขาในไทย 130 แห่ง โดยแบ่งเป็นสัดส่วนในกรุงเทพฯ 70%  ต่างจังหวัด 30% ทั้งนี้ในไทยจะขยายสาขาปีละ 5 แห่ง โดยการเปิดร้านจะยึดทำเลในศูนย์การค้าชั้นนำ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นหลัก โดยในปีนี้จะเปิดสาขาที่เซ็นทรัลบางใหญ่  เซ็นทรัลศาลายา  เซ็นทรัลระยอง และเซ็นทรัลเชียงใหม่ โดยใช้เงินทุนสาขาละประมาณ  4-6  ล้านบาท  ยกเว้นเซ็นทรัลหาดใหญ่ที่ไม่มีสาขา
 
ในขณะเดียวกันจะไม่มุ่งเน้นร้านสแตนด์อะโลน ซึ่งตอนนี้มีอยู่แค่เฉพาะแถวสีลม และวังบูรพา เท่านั้น
 
“การเปิดร้านต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะถึงจุดคุ้มทุน ถ้าผู้ขายมากกว่าผู้บริโภคจึงยังไม่เป็นโอกาสดีต่อการขยายสาขา” ภาคีกล่าว
            
ส่วนตลาดต่างประเทศ หอแว่นบุกไปเปิดสาขาที่สิงคโปร์ และมาเลเซียเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และประสบผลสำเร็จอย่างดี  โดยเป็นบริษัทแว่นตาแห่งเดียวที่ขยายไป และเติบโตได้ดี ซึ่งในปัจจุบันมีสาขาอยู่ 22 แห่ง คือ ที่สิงคโปร์ 12 แห่ง และมาเลเซีย10 แห่ง มีสัดส่วนรายได้เมื่อเทียบกับไทย 40:60  หรือประมาณ 500  ล้านบาท   
 
“ยอดรายได้ในสิงคโปร์ในปีนี้ลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ จาก 10 เปอร์เซ็นต์เหลือ 8-9 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสิงคโปร์อิงกับเศรษฐกิจยุโรป และอเมริกา ในขณะที่รายได้ในมาเลเซียเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ คือ 12 เปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้การเพิ่มสาขาในมาเลเซียค่อนข้างยากเนื่องจากประชากรน้อย” ภาคีกล่าว 
   
ในขณะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้น หอแว่นเตรียมขยายสาขารับ AEC พร้อมชูนโยบาย ร้านแว่นตาที่มีคุณภาพ professional ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าโตเพิ่ม 10-12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากที่ประสบผลสำเร็จในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ประเทศอื่นๆ อาทิ  ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ก็กำลังพิจารณากฎหมายธุรกิจการค้าปลีกของประเทศดังกล่าว
 
พฤติกรรมการซื้อแว่นตานั้น ภาคีบอกว่า “ปกติคนเราจะเปลี่ยนแว่นทุก 2 ปี และจะเปลี่ยนเลนส์ทุกปี ในขณะที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 5,000–7,000 บาทจะขายดีที่สุด โดยสัดส่วนแว่นสายตาขายดีที่สุด 70% แว่นกันแดด 10% และคอนแทคเลนส์ 20%”
              
“ธุรกิจแว่นตาเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันดุเดือดทั้งด้านราคาและแคมเปญต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ขณะที่หอแว่นเน้นเรื่องคุณภาพเป็นตัวนำ การเลือกแว่นตาขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของคน ในขณะที่กลุ่มลูกค้าหลักของเรา คือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ต้องการร้านที่มีความเชี่ยวชาญ เขาเชื่อถือเรา ประสิทธิภาพของเรา ในขณะที่ธุรกิจแว่นตาจะมีแคมเปญแข่งขันกันมากมาย แต่ปัจจัยข้อเท็จจริงก็คือ ความน่าเชื่อถือจะดึงดูดลูกค้าได้ ในขณะที่แคมเปญต่างๆ เป็นเพียงสีสันของตลาดแว่นตาเท่านั้น” ภาคีกล่าวปิดท้าย
 
ขณะที่ผู้ประกอบการอีกรายอย่าง เคที ออฟติค ก็ไม่ได้นิ่งเฉย หากแต่กำลังรุกตลาด โดยมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่ม อีก 20 แห่ง ซึ่งปัจจุบัน เคที ออฟติค  มีสาขากว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 100 สาขา ต่างจังหวัด 100 สาขา เป็นสัดส่วนร้านแฟลกชิพสโตร์ 15% บูติกสโตร์ 30% ที่เหลือ 55% เป็นร้านสแตนด์อะโลน    

ทั้งนี้ ในปี 2556  ได้ทุ่มงบกว่า 60 ล้านบาทขยายสาขา 20 แห่ง เฉลี่ยลงทุนสาขาละ 3 ล้านบาท เพื่อทำการตลาดและส่งเสริมการขายเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายที่จะเปิดสาขาใหม่ 15-20 แห่งทั่วประเทศพร้อมวางกลยุทธ์ให้เป็นร้านแว่นตาระดับพรีเมียม เจาะลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไปผนวกกับความหลากหลายของสินค้ากว่า 30 แบรนด์ โดยเน้นแบรนด์ที่มี “คาแรกเตอร์” หรือสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ หรือ เอ็กซ์คลูซีฟโมเดล  พร้อมทั้งมีการนำเข้าแบรนด์ใหม่ๆ ปีละ 1-2  แบรนด์ เป็นต้น
 
ชัชวาลย์ วณิชไพสิฐ ผู้อำนวยการด้านการบริหาร เคที ออฟติค ระบุว่า  เคทีออฟติค สนใจเปิดตลาดพม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา พร้อมๆ กับการเร่งขยายธุรกิจในไทย เพื่อให้ครอบคลุมการก้าวสู่ตลาดอาเซียนในยุค AEC อย่างสมบูรณ์แบบ โดยวางโมเดลธุรกิจในการเปิดตลาดร่วมกับ “พันธมิตรท้องถิ่น” ในประเทศนั้น ในขณะเดียวกัน  การตามติดกลุ่มห้างใหญ่ๆ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการปักหมุดในตามพื้นที่ต่างๆ ในแถบอาเซียน ก็เป็นช่องทางหนึ่งของการปูทางทางการตลาดของบริษัทด้วย
 
ด้านฝั่งของเบอร์หนึ่งในตลาดแว่นตาไทยอย่าง “แว่นท็อปเจริญ” ดูจะมั่นใจในศักยภาพของตลาดและกลยุทธ์ที่ดำเนินต่อเนื่องมาไม่น้อยเช่นกัน
 
นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ร่วมเจริญพัฒนา จำกัด เจ้าของร้าน แว่นท็อปเจริญ  มีมุมมองในการบริหารทางการตลาดว่า การที่เปิดสาขามากเท่าไร จะยิ่งครองตลาดได้มากเท่านั้น  ซึ่ง ณ ปัจจุบัน แว่นท็อปเจริญได้ขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ครองความเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดแว่นตา  ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,700 สาขา ทั่วประเทศ  รวมถึงการเปิดตัวกลยุทธ์ด้วยการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับแว่นบิวตี้ฟูลที่จะเน้นให้บริการหลังการขาย ซึ่งเป็นจุดสำคัญของธุรกิจแว่นตา
 
ในขณะที่แว่นบิ้วตี้ฟูลเน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เน้นแฟชั่น แว่นท็อปเจริญจะเน้นลูกค้าทั่วไป และยังมีแผนการควบรวมแว่นท็อปเจริญ และบิวตี้ฟูลเป็นบริษัทเดียวกันในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมทางธุรกิจ และเตรียมตัวในการเข้าสู่ AEC ในที่สุด
 
ตลาดแว่นตา  ตลาดที่มีการเติบโตไม่หวือหวา แต่เติบโตที่มีแนวโน้มสูงและต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันทั้งผู้ประกอบการในและนอกประเทศ

 

Category: 

ศุภลักษณ์ อัมพุช “เดอะมอลล์” พร้อมรบ

$
0
0

 

หลังจากซุ่มเงียบอยู่นานหลายปี ตั้งแต่ผุดบิ๊กโปรเจ็กต์ “สยามพารากอน” เพื่อจัดทัพเข้าสู่สมรภูมิค้าปลีกครั้งใหม่  ล่าสุด “ศุภลักษณ์ อัมพุช” เปิดแผนลงทุนมูลค่ามหาศาลชุดแรกของบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และประกาศผลักดันรายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี โดยมีตลาดอาเซียนกว่า 600 ล้านคนเป็นเป้าหมายใหญ่ และยกระดับการเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย  
 
ตามแผนของศุภลักษณ์ ปี 2557 จะเป็นปีที่ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” มีการขับเคลื่อนมากที่สุด เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ “เออีซี” ในปี 2558  โดยวางหมุดในการสร้างศูนย์กลางชอปปิ้งที่เรียกว่า “District” หรือ “ย่าน” ต่อเนื่องจากการปักหมุดแรก ผุดโครงการศูนย์การค้า “สยามพารากอน” ในย่านสยามสแควร์ ซึ่งถือเป็น “Downtown”  ของกรุงเทพมหานคร
 
เป้าหมายต่อไป คือการสร้างย่านชอปปิ้งอีก 2 จุดใหญ่ คือ “Midtown” ในย่านสุขุมวิท และ “Uptown” ในย่านบางนา โดยเฉพาะย่านบางนาถือเป็นสมรภูมิใหม่ มีพื้นที่เอื้อต่อการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และเป็นย่านชานเมืองที่เดอะมอลล์มีความถนัดในการปลุกปั้นทำเลทองให้ “ตื่น” แม้มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่าง “เมกาบางนา” เข้าไปยึดพื้นที่ รวมถึงกลุ่มคู่แข่งอย่างเครือเซ็นทรัลที่จับทำเลอยู่นานหลายปี
 
แน่นอนว่า ศุภลักษณ์สั่งสมประสบการณ์จนค้นพบ “ปัจจัย” สำคัญของการทำธุรกิจศูนย์การค้า ตั้งแต่ยุคของ ศุภชัย อัมพุช ที่ตัดสินใจเปิดธุรกิจห้างสรรพสินค้า อาศัยกำลังหลัก ลูกๆ 4 คนจากทั้งหมด 7 คน เข้ามาร่วมลุยงานยุคบุกเบิก คือ สุรัตน์ อัมพุช ศุภลักษณ์ อัมพุช กฤษณา อัมพุช และสุทธิพงษ์ อัมพุช โดยเปิดสาขาแรก เดอะมอลล์ สาขาราชดำริ จนกระทั่งปิดให้บริษัท นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าดำเนินการ เป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรม
 
เส้นทางหลังจากปิดให้บริการสาขาราชดำริทำให้เดอะมอลล์ กรุ๊ป เบนเข็มเปิดศูนย์การค้าชานเมือง ลุยทำเลใหม่ย่านรามคำแหง โดยเปิด “เดอะมอลล์ 2” เมื่อปี 2526 จับกลุ่มนักศึกษาและชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็น “ของใหม่” ในตลาด และสร้างความตื่นเต้นให้กลุ่มนักชอปจนกวาดยอดขายเติบโตทะลุเป้า ต้องผุดศูนย์การค้าบนฝั่งถนนตรงข้าม ภายใต้แนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “เดอะมอลล์ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์” หรือ “เดอะมอลล์ 3” มีการสร้างสะพานเลื่อนลอยฟ้าเชื่อมพื้นที่ทั้งสองศูนย์
 
ห่างจากเดอะมอลล์ 3 เพียงนิดเดียว กลุ่มอัมพุชฉายวิสัยทัศน์การสร้างย่านชอปปิ้ง เปิดศูนย์ความบันเทิงและศูนย์รวมร้านอาหารนานาชนิด “เดอะมอลล์ 4” กลายเป็นศูนย์การค้าครบวงจรแห่งแรกในย่านรามคำแหง
 
ปี 2532 เปิดตัว เดอะมอลล์ สาขาท่าพระหรือ “เดอะมอลล์ 5” ซึ่งถือเป็นศูนย์การค้าครบวงจรขนาดใหญ่ที่มีสวนสนุกและสวนน้ำลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทยภายในอาคารเดียวกัน พื้นที่กว่า 150,000 ตารางเมตร
 
ปี 2534 เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ตอกย้ำแนวคิดการทำศูนย์การค้าที่เน้น “ความใหญ่” เป็นหัวใจสำคัญ พื้นที่มากกว่า 250,000 ตร.ม.
 
3 ปีต่อมา เดอะมอลล์ทุ่มทุนเปิดศูนย์การค้า 2 โครงการ 2 มุมเมืองพร้อมกัน  คือ เดอะมอลล์ สาขาบางแค   (เดอะมอลล์ 7) และสาขาบางกะปิ (เดอะมอลล์ 8) ในวันที่ 5 สิงหาคม 2537 รวมพื้นที่ทั้งสองสาขากว่า 600,000 ตร.ม.เป็นศูนย์การค้าครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของเดอะมอลล์ในเวลานั้น  มีสวนน้ำ-สวนสนุก และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ รองรับการจัดงานแสดงขนาดใหญ่
 
ปี 2543 กลุ่มอัมพุชเริ่มรุกขยายสู่ต่างจังหวัด เปิดสาขาโคราช เนื้อที่ 52 ไร่ มีพื้นที่ค้าปลีกกว่า 200,000ตร.ม.
 
ขณะเดียวกัน จากธุรกิจศูนย์การค้าที่จับกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง เดอะมอลล์กรุ๊ปขยายเซกเมนต์เข้าสู่ตลาดไฮเอนด์ เปิดตัว “ดิ เอ็มโพเรียม” ในปี 2540 จับทำเลย่านสุขุมวิทเป็นโครงการแรก
 
ปี  2548 ประกาศร่วมทุนกับบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จัดตั้งบริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด  เปิดตัวศูนย์การค้า “สยามพารากอน” มูลค่าลงทุน  15,000 ล้านบาท มีพื้นที่กว่า 500,000 ตร.ม.
 
ระหว่างนั้นกลุ่มอัมพุชพยายามขยายตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าร่วมประมูลและได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ประเภทสินค้า บริการ และประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ภายในอาคารผู้โดยสาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง จากบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิด “ดอะมอลล์ สกายพอร์ต” อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555
 
ช่วง 3 ทศวรรษกับศูนย์การค้า 12 แห่ง การก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ภายใต้แผนลงทุนมูลค่ามหาศาลกำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในอาณาจักรค้าปลีกของกลุ่มตระกูลอัมพุช โดยเฉพาะแนวคิดการลงทุนธุรกิจศูนย์การค้าในรูปแบบการสร้างศูนย์กลางการชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในแต่ละโซน นอกเหนือจากการลงทุนรีโนเวตสาขาที่มีอยู่เดิม เพื่อยกระดับตามไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป
 
การเปิดตัวโครงการเชื่อม 3 ศูนย์การค้า คือ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และ ดิ เอ็มสเฟียร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการรุกสงครามค้าปลีกตามยุทธศาสตร์การสร้างย่านชอปปิ้งของตัวเอง เพื่อควบคุมแนวคิดโครงการ ควบคุมกลยุทธ์การทำตลาด รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ต้องการใช้ศูนย์การค้ารอบข้างเข้ามาเป็นปัจจัย ซึ่งเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญของย่านสยามสแควร์ที่มีศูนย์การค้าใหญ่อยู่ในบริเวณเดียว ต่างค่ายต่างทำ และในที่สุดกลายเป็น “จุดขาย” ซ้ำซ้อนกัน ไม่แตกต่างกัน ทั้งร้านค้าแบรนด์เนม หรือกลยุทธ์ต่างๆ
 
ไม่ว่าจะเป็นสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หรือแม้กระทั่งสยามพารากอน แต่อาจเป็นจุดแข็งของ “สยามสแควร์” ในฐานะดาวน์ทาวน์ เหมือนย่านกินซ่าในญี่ปุ่น หรือฟิฟท์อะเวนิวในนครนิวยอร์ก และเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ ที่ช่วยดึงดูดกลุ่มนักชอปจากทั่วสารทิศจนล้นทะลัก
 
นั่นทำให้ศุภลักษณ์เห็นศักยภาพมากมายในการกระจายนักชอปมาสู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท เพื่อสร้างย่านชอปปิ้งใหม่เหมือนย่านโอโมเตะซานโดะ และร็อปปองงิ หรือกรุงปารีส ที่มีความเป็นวัฒนธรรม ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ และไม่ใช่การผุดศูนย์การค้ากระจัดกระจายอย่างคู่แข่ง
 
ปัจจุบันย่านสุขุมวิทมีคอนโดมิเนียมมากกว่า 40,000 ยูนิต อาคารสำนักงานมากกว่า 800,000 ตร.ม. มีโรงแรมระดับ 4-5 ดาว คิดเป็นจำนวนห้องมากกว่า 10,000 ห้อง และในอนาคตจะเติบโตอีกหลายเท่าตัว ทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและโรงแรมหรู ขณะเดียวกันเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีทั้งกลุ่มเศรษฐีเก่าและเศรษฐีใหม่ ซึ่งถือเป็นนักจับจ่ายที่มีกำลังซื้อสูงมาก ไม่นับรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัวจากปีละ 20 ล้านคน เป็น 40 ล้านคนภายในระยะเวลา 5 ปี
 
ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการยกระดับใจกลางสุขุมวิท หรือ The Epicenter of Sukhumvit  โดยผนึก 3 โครงการศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ประกอบด้วย ดิ เอ็มโพเรียม (The Emporium) ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) และ ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere)  เนื้อที่รวมกัน 50 ไร่ พื้นที่โครงการทั้งหมด 650,000 ตร.ม. งบลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ การปรับโฉมใหม่ทั้งหมดของ ดิ เอ็มโพเรียมจะเสร็จปลายปี 2557 พร้อมๆ กับการเปิดให้บริการ ดิ เอ็มควอเทียร์  ส่วนโครงการ ดิ เอ็มสเฟียร์ จะเปิดให้บริการในปี 2559 ซึ่งแต่ละศูนย์การค้าจะมีความแตกต่างกัน โดย  ดิ เอ็มโพเรียม จะเป็นที่สุดแห่งการชอปปิ้งอย่างมีระดับ หรือ “The Ultimate Shopping Complex”
 
ดิ เอ็มควอเทียร์จะเป็นมิติใหม่ของรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ธรรมดา หรือ The Extraordinary Life เช่น การสร้างสวนธรรมชาติ ขนาด 4,000 ตร.ม. น้ำตกสูง 40 เมตร เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืน ฟิตเนสชื่อดังอย่างเวอร์จิ้น แอ็กทีฟ ของริชาร์ด แบรนสัน ศูนย์รวมไดนิ่งและแฮงเอาต์  โดยจะเปิดให้บริการดึกขึ้นกว่าปกติ
 
ส่วนดิ เอ็มสเฟียร์ จะเป็นความเร้าใจใหม่ของคนกรุงเทพฯ หรือ The Vibe of Bangkok has never experienced before ซึ่งศุภลักษณ์ยังไม่เปิดเผยแนวคิดและรูปแบบโครงการ แต่ยืนยันว่าจะเป็นตัวฉีกธุรกิจศูนย์การค้าให้ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
 
ด้านแผนปลุก “Uptown” ย่านบางนา จะเป็นการปักหมุดศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางนา ชอปปิ้งมอลล์ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมี “ความใหญ่” เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อชนกับ “เมกาบางนา”
 
นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิด เดอะมอลล์ภูเก็ต รวมถึงโครงการ “บลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ท” ที่ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด ของตระกูลลิปตพัลลภ สร้างศูนย์การค้ารูปแบบรีสอร์ตมอลล์ เนื้อที่ 25 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 140,000 ตร.ม. เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท  โดยมุ่งมั่นจะเปิดบริการให้ได้ในปี 2558 เพื่อเปิดโซนชอปปิ้งแห่งใหม่ในหัวหิน
 
แน่นอนว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป ต้องสร้างทีมผู้บริหารครั้งใหญ่ โดยตลอด 1-2 ปี มีการดึงมือดีเข้ามาเสริมทีมอย่างต่อเนื่องและเร่งปรับโครงสร้างใหม่ครั้งสุดท้ายเพื่อรองรับนิวโปรเจ็กต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น แมทธิว กิจโอธาน อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ทอม ฮูเซล อดีตผู้บริหารจาก “อิเกีย” วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ จากซิตี้แบงก์ จักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล จากโซนี่ไทย ชัยโรจน์ ศรีเดชะรินทร์กุล จากแซมโซไนท์
 
รวมถึงการอัดหลักสูตรเร่งรัดทายาทรุ่นที่ 3 อย่างวิภา อัมพุช  ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส Corporate Image หรือฝั่ง “ภัทรประสิทธิ์” อย่างวรามาศ ภัทรประสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส Food Development ซึ่งรับผิดชอบดูแลงานด้านรีโนเวตและหาร้านค้าสำหรับพื้นที่ฟู้ดฮอลล์ แม้ต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกระยะหนึ่ง แต่มีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในเวลาอันใกล้
 
ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา เดอะมอลล์อาจไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ เพราะมีจุดอ่อนเรื่องคน ผู้บริหารตามโครงสร้างเดิมล้วนเป็นคนรุ่นบุกเบิก อายุมากกว่า 50 ปี ขาดช่วงต่อของคนอายุ 40 ปีและนักบริหารรุ่นใหม่  แต่การประเดิมเปิดแผนลงทุน 3 โครงการยักษ์ ย่อมเป็นการเป่านกหวีดส่งสัญญาณให้คู่ต่อสู้เตรียมรับมือการแข่งขันที่ไม่ใช่การทำธุรกิจศูนย์การค้ารูปแบบเดิมๆ อีกแล้ว

 

 

Category: 

CRC ขยับทัพ หนุน Family Mart ชิงส่วนแบ่ง

$
0
0

 

ขณะที่ผู้บริหารของกลุ่ม CP ALL เคยตั้งเป้าหมายในการขยายร้าน 7-11 ให้ครบ 1 หมื่นร้านในปี 2560 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กลุ่ม ‘เซ็นทรัล’ เจ้าของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ Family Mart ตั้งเป้าขยายร้านให้ได้ 3 พันร้าน แม้จะเป็นแค่ 30% ของจำนวนร้านของคู่แข่ง แต่ในแง่ของมูลค่าตลาด นั่นหมายถึงยอดขายหลายหมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน สาขาร้าน 7-11 มีประมาณ 7,500 สาขา ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทเพิ่งประกาศครบ 1 พันสาขาเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา จากต้นปีที่มีจำนวนสาขาเพียง 800 สาขา ‘เครื่องทุ่นแรง’ ที่ทำให้แฟมิลี่มาร์ทก้าวสู่ 1 พันสาขาก่อนสิ้นปี คือการปรับซูเปอร์มาร์เก็ตไซส์เล็กสุดอย่าง “ท็อปส์เดลี่” มาเป็นร้านแฟมิลี่มาร์ท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา
 
อันที่จริง หลังการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่าง ‘เซ็นทรัล รีเทล คอปอร์เรชั่น’ หรือ CRC กับบริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กันยายน ปีที่ผ่ามา ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้กล่าวไว้แต่แรกว่า CRC จะเพิ่มศักยภาพในการบุกตลาดร้านสะดวกซื้อด้วยการทยอยปรับร้านท็อปส์เดลี่มาเป็นแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งถือเป็นหนึ่งสัญญาณความเอาจริงในธุรกิจร้านสะดวกซื้อของผู้บริหาร CRC

จากวันนั้น ก็เป็นเวลาปีกว่า ณัฐ วงศ์พาณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท มองว่า แม้เป็นความตั้งใจแต่ต้น และถึงจะเป็น ‘ดีล’ ของบริษัทเครือเดียวกัน แต่ในกระบวนการทำให้ดีลลงตัวจำเป็นต้องใช้เวลา

สำหรับเฟสแรก ร้านท็อปส์เดลี่ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 250 ตร.ม. จะถูกปรับมาเป็นร้านแฟมิลี่มาร์ททั้งสิ้น 74 สาขา โดยจะเริ่มทยอยเปลี่ยนป้ายและปรับร้านให้เสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2557 โดยคาดว่าจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนสินทรัพย์ที่เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท ต้องจ่ายให้กับเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เจ้าของท็อปส์เดลี่

ความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทในเครือ CRC ครั้งนี้ ยังทำให้อยู่ๆ แฟมิลี่มาร์ทก็มีร้านในทำเลสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่เชียงใหม่ ตรัง พังงา นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ เป็นต้น และทำให้มีร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น โดยใหญ่สุดคือ 250 ตร.ม.

ร้านที่ปรับมาจากท็อปส์เดลี่ที่มีขนาดใหญ่กว่าร้านทั่วไปจะรองรับสินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 4,500 รายการ จากที่เคยขายแค่ 3,500 รายการ นี่จะทำให้ร้านเหล่านี้มีสินค้าที่ไม่เคยมีขายในแฟมิลี่มาร์ท เช่น ผัก ผลไม้ อาหารพร้อมปรุง และสินค้าที่ขายแพ็กใหญ่ขึ้น เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก เป็นต้น 

ในทำเลที่ดี ร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีขนาดใหญ่บางร้านจะถูกปรับให้มีบรรยากาศที่ ‘พรีเมี่ยม’ ขึ้น มีสินค้าและขนมจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น และมีมุมกาแฟสด “เซกาเฟรโด” แบรนด์ร้านกาแฟของกลุ่มเซ็นทรัล มุมขนมอบ (pastry) มุมอาหารพร้อมปรุง (กึ่งครัวเปิด) และมุมทานอาหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นโมเดลร้านรูปแบบใหม่

‘แฟมิลี่มาร์ท พรีเมี่ยม’ เป็นร้านรูปแบบใหม่ที่นำคอนเซ็ปต์ร้าน Famima (แฟมิมะ) ในญี่ปุ่นมาประยุกต์ โดยจุดยืนของโมเดลนี้ คือเป็นร้านระดับพรีเมี่ยม จับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก พิถีพิถัน โดยมีสินค้า อาหาร และขนมนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน ร้านโมเดลนี้เปิดแล้วที่คอนโด Rhythm รัชดา และ Aspire พระรามสี่

นอกจากนี้ แฟมิลี่มาร์ทยังจะได้รับโอกาสไปเปิดในปั๊มคาลเท็กซ์เป็นรายแรกๆ เนื่องจากคาลเท็กซ์เป็นพันธมิตรกับท็อปส์เดลี่มาก่อน ยุทธศาสตร์ปรับร้านครั้งนี้ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของกลุ่ม CRC เพราะช่วยลดความสับสนและซ้ำซ้อนระหว่างแฟมิลี่มาร์ทกับร้านท็อปส์เดลี่ไซส์เล็กลงไป เนื่องจากก่อนเป็นเจ้าของ Family Mart กลุ่ม CRC ได้ใช้ท็อปส์เดลี่เป็นหมากรุกในตลาดร้านสะดวกซื้อมาก่อน

“เราบริหารท็อปส์เดลี่มานาน ก่อนนี้เนื่องจากร้านมีหลายขนาด ทำให้ต้องบริหารแต่ละร้านไม่เหมือนกัน จึงเกิดความไม่เด่นชัดเรื่องของแบรนด์และทำให้ลูกค้าสับสน แต่จากนี้ไป ท็อปส์เดลี่กับแฟมิลี่มารท์อาจอยู่พื้นที่ใกล้กันได้ เพราะรูปแบบและเซกเมนต์ลูกค้าของเราจะต่างกันชัดเจน”

อลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ยืนยันว่า บริษัทจะยังคงขยายร้านท็อปส์เดลี่ต่อไป โดยจะเน้นคอนเซ็ปต์ ‘มินิซูเปอร์มาร์เก็ต’ เป็นการตอบโจทย์การช้อปปิ้งเพื่อ “รีฟิล” สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ทุกวัน 

ปัจจุบัน ร้านท็อปส์เดลี่เหลือ 12 สาขา ก่อนสิ้นปีจะเปิดอีก 2 สาขา ส่วนปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 24 สาขา สำหรับร้านท็อปส์ทุกรูปแบบ ปีหน้าจะเปิดเพิ่มอีก 60 สาขา คาดว่าต้องใช้งบลงทุนกว่า 1.5 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ ณ สิ้นปีนี้ ของกลุ่มท็อปส์ คาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทจะจบสิ้นปีนี้ด้วย 1,040 ร้าน ในปีหน้าน่าจะเปิดร้านเพิ่มไม่ต่ำกว่า 200 สาขา และภายในสิ้นปี 2560 ตั้งเป้าไปถึง 3 พันร้าน ส่วนรายได้ ณ สิ้นปี คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท

“ก้าวนี้สะท้อนว่าเรารุกจริงจังในตลาดร้านสะดวกซื้อ แต่เราก็ไม่หวังว่าจะแซง ‘เบอร์หนึ่ง’ ได้เพราะเขาไปไกลแล้ว เพียงแต่เราอยากมีจุดยืนในตลาด เพราะตลาดนี้ใหญ่มาก ในปี 2560 ถ้าเรามี 3 พันร้าน ผู้นำตลาดอาจมีเป็นหมื่นร้าน เราก็เป็นแค่ 30% แต่ในแง่มูลค่าตลาด มันหมายถึงยอดขายหลายหมื่นล้านบาท” ณัฐกล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าภายในระบุว่า ในปี 2555 กลุ่มร้านสะดวกซื้อมีรายได้รวมประมาณ 2.1 แสนล้านบาท โดย 92.55% หรือราว 1.95 แสนล้านบาท เป็นรายได้ของร้าน 7-11 ขณะที่รายได้รวมของกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งหมดราว 4.07 หมื่นล้านบาท ผู้นำกลุ่มอย่าง ‘Tops’ มีรายได้เกือบ 2.77 หมื่นล้านบาท หรือ 67% นี่ก็ชี้ให้เห็นว่าตลาดร้านสะดวกซื้อนั้นเย้ายวนใจมากกว่านัก

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเซ็นทรัลจึงทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อผลักดันแฟมิลี่มาร์ทในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งการพัฒนาสินค้าร่วมกับบริษัทในเครือ การใช้ระบบ Logistic และ Merchandise ร่วมกัน ฯลฯ โดยเฉพาะการนำเครื่องมือ CRM ที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มเซ็นทรัล คือ SPOT Reward และ The One Card มาใช้ในร้าน รวมถึงการเปิดร้านในศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงานของกลุ่ม CPN เป็นต้น 

ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทเองก็มีหลากกลยุทธ์เพื่อสร้างความต่าง โดยเฉพาะการมีร้านรูปแบบใหม่ให้เหมาะสมกับและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทำเล นอกจากรูปแบบพรีเมี่ยม ก็ยังมีรถจำหน่ายสินค้า, ‘คิออส’ และตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น ส่วนจะมีกี่รูปแบบบ้าง ณัฐบอกว่ายังอยู่ในการพิจารณา

ความเย้ายวนของตลาดร้านสะดวกซื้อดึงดูด ‘ผู้เล่น’ ให้เข้ามากราย กลายเป็นเชื้อปะทุยิ่งทำให้การแข่งขันดุเดือด เพราะไม่เพียงปะทะ ‘เบอร์หนึ่ง’ แฟมิลี่มาร์ทยังต้องฝ่าฟันกับหลากผู้ท้าชิง ‘สายแข็ง’ ที่ต่างก็หวังชิงตำแหน่ง ‘เบอร์สอง’ 

อาทิ ‘ลอว์สัน108’ คู่แข่งจากค่ายสหพัฒน์ฯ ที่ชูคอนเซ็ปต์ร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมี่ยม อันเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ ‘แฟมิลี่มาร์ท พรีเมี่ยม’ และมี ‘สองยักษ์’ จากกลุ่ม Discount Store อย่างเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ที่ลดไซส์และปรับร้านเพื่อลงมาเล่นตลาดร้านสะดวกซื้อและมินิซูเปอร์ฯ อย่างจริงจัง

ส่วน ‘ผู้นำตลาด’ ก็หาได้ทำแค่ขยายร้านไปเรื่อย แต่ยังหาโอกาสชิงตลาดกลับคืนทุกเมื่อ โดยล่าสุด ร้าน 7-11 ได้สกัดแฟมิลี่มาร์ทจนหลุดจากโครงการคอนโดของ LPN ด้วยการเข้าเป็นพันธมิตรแทนที่แฟมิลี่มาร์ท นอกจากนี้ยังมีการแย่งชิงเป็นพันธมิตรกับค่ายปั๊มน้ำมัน เพื่อชิงโอกาสในการเปิดร้านในปั๊ม ฯลฯ 

แม้การแข่งขันจะรุนแรง แต่ตราบที่ร้านสะดวกซื้อยังเปิดใหม่ตลอดเวลา ก็หมายความว่า ‘Red Ocean’ แห่งนี้ยังมี ‘โอกาส’ เพียงแต่อาจต้องระดม ‘สรรพกำลัง’ และ ‘สายป่าน’ มากหน่อยเพื่อแย่งชิงมา ซึ่งปรากฏการณ์คราวนี้ของ CRC ก็คือภาพสะท้อนดังกล่าว

 

 

Category: 

ค้าปลีก ดิ้น-สู้-ฟัด เร่งชิงพื้นที่เสริมจุดขาย

$
0
0

 

ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่ามีความน่าสนใจและสะท้อนภาพการแข่งขันในธุรกิจที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและทวีความหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปทุกขณะ
 
การประกาศแผนการลงทุนของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่จะใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในการสร้าง Shopping District เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่และสร้างจุดขายครั้งใหม่ ท่ามกลางการเปิดแนวรุกของคู่แข่งขันหลักจากเครือเซ็นทรัลที่ดำเนินต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
 
ยุทธศาสตร์การขยายตัวของเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเครือเซ็นทรัลเป็นกรณีเปรียบเทียบที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก เพราะในขณะที่เครือเซ็นทรัลโดย เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN และเซ็นทรัลรีเทลคอร์ป CRC จะดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการขึงตรึงพื้นที่ในเขตย่านที่มีศักยภาพสูงในทุกทิศทางของเมือง ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า พระราม 2 พระราม 3 แจ้งวัฒนะ รามอินทรา รัตนาธิเบศร์ รังสิต พระราม 9 รวมถึงกระจายตัวสู่หัวเมืองต่างจังหวัดอย่างกว้างขวาง
 
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งจากเดิมเคยถูกปรามาสว่าเป็น “ห้างท้องถิ่นหัวเมือง” กลับพยายามเน้นภาพลักษณ์การเป็นผู้ประกอบการศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ หลังจากประสบความสำเร็จในการเบียดแทรกเข้ามาลงทุนในย่านสุขุมวิทด้วย ดิ เอ็มโพเรียม และตอกย้ำด้วยการร่วมลงทุนในสยามพารากอนในเวลาต่อมา
 
ก่อนที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวกับการขยายการลงทุนใหม่ๆ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป จะห่างหายไปจากหน้าสื่อหลัก ท่ามกลางความพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและการเสริมสร้างพันธมิตรธุรกิจ ก่อนที่จะเปิดแผนการลงทุนครั้งใหม่เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน
 
พัฒนาการทางความคิดของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่สะท้อนออกมาตามแผนการลงทุนครั้งใหม่นี้ ในความเป็นจริงแล้วไม่แตกต่างจากรูปแบบของเดอะมอลล์ ที่เคยได้ดำเนินการมาแล้วเมื่อครั้งที่รุกเข้าสู่พื้นที่ย่านรามคำแหง เมื่อกว่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา หากแต่ครั้งนี้เดิมพันของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ดูจะสูงกว่าอดีตมาก
 
และเมื่อเดิมพันสูงขึ้น ผู้ลงทุนย่อมมุ่งหมายผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนว่าการสร้าง shopping district ในย่านสุขุมวิท ตามแผนการลงทุนนี้ จะดำเนินไปท่ามกลางความเชื่อที่ว่าจะสามารถปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในวงการค้าปลีกไทย และสามารถสร้างย่านการค้าที่โดดเด่นระดับไฮเอนด์ ที่เปรียบเทียบเป็น Omotesando หรือ Roppongiของกรุงโตเกียวกันเลยทีเดียว
 
การประกาศแผนการลงทุนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ครั้งใหม่นี้ ในด้านหนึ่งเป็นการตอบสนองต่อการเกิดขึ้นของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2557 ซึ่งจะทำให้ตลอดเส้นทางจากแยกปทุมวัน-ราชประสงค์-เพลินจิต-ชิดลม และสุขุมวิท กลายเป็นย่านการค้าในตลาดระดับกลาง-บนใจกลางเมืองที่จะมีพลวัตและศักยภาพสูงอย่างยิ่ง
 
แต่แนวรบในสมรภูมิธุรกิจค้าปลีกไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องราวของศูนย์การค้าและผู้ประกอบการในย่านการค้านี้เท่านั้น เพราะในขณะเดียวกัน สมรภูมิร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เป็นอีกหนึ่งสังเวียนที่มีการสัประยุทธ์กันอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน
 
การประกาศปรับทิศทางของท็อปส์เดลี่ให้กลายเป็นแฟมิลี่มาร์ท เป็นความพยายามล่าสุดของเครือเซ็นทรัล ที่จะขยายพื้นที่ของแฟมิลี่มาร์ทให้สามารถต่อกรกับทั้ง 7-11 ของ CP All ซึ่งเป็นผู้นำตลาดร้านสะดวกซื้อและการยึดพื้นที่เพื่อป้องกันการเบียดแทรกเข้ามาของ Lawson-108 จากเครือสหพัฒน์ ที่กำลังเร่งขยายฐานเช่นกัน
 
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าเครือเซ็นทรัลจะต้องเผชิญกับแรงบีบอัดจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ จากทุกทิศทาง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเครือเซ็นทรัลเป็นผู้ประกอบการที่มีระนาบสำหรับการแข่งขันในทุกเซกเมนต์ของธุรกิจค้าปลีกครบวงจรที่สุดในปัจจุบัน
 
ก่อนหน้านี้ CP All  ได้ดำเนินกลยุทธ์ในการรุกเข้ายึดทำเลในการเปิดสาขาด้วยการลงนามเป็นพันธมิตรกับ LPN ดีเวลลอปเมนต์ ในการบริหารพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ภายในโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ ของ LPN ซึ่งจะทำให้ 7-11 สามารถยึดครองทำเลขยายสาขาคอนโดมิเนียมลุมพินีทุกแห่ง และปิดช่องทางที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะเบียดชิงพื้นที่เข้ามา
 
กลยุทธ์ดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเพียงการขยายสาขาที่บุกเข้าสู่ทำเลใหม่และทำเลเก่าที่มีศักยภาพของคู่แข่ง แต่ยังขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ควบคู่กับโมเดลธุรกิจค้าปลีกใหม่ ที่กำลังขยายตัวของกลุ่มเครือซีพีอีกด้วย
 
ตัวเลขที่น่าสนใจในสมรภูมิร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย ก็คือมีการประมาณการว่าปัจจุบันมีจำนวนร้านสะดวกซื้อทั้งสิ้นประมาณ 12,044 สาขา ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นสาขาของผู้ประกอบการ 5 รายใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่ เซเว่น- อีเลฟเว่น จำนวน6,822 สาขา ตามด้วย “โลตัสเอ็กซ์เพรส” 1,059 สาขา 108ช็อปของสหพัฒน์ ซึ่งเตรียมแปลงร่างเป็น “108ลอว์สัน” มีจำนวน  929 สาขา แฟมิลี่มาร์ท 765 สาขาและเฟรชมาร์ท   755 สาขา
 
และยังมีคู่แข่งที่มีทั้งเงินทุนและพุ่งเป้าต้องการเข้ามาแบ่งเค้กเกือบสิบราย ไม่ว่าจะเป็นมินิบิ๊กซี จิ๊ฟฟี่ หรือท็อปส์เดลี่ ซึ่งที่ผ่านมามีร้านสะดวกซื้อบางค่ายต้องยกธงขาวยอมทิ้งสังเวียนนี้ไป ทั้งที่เปิดสาขามากถึง  1,159 สาขาเช่นในกรณีของ “วีช็อป” หลังจากไม่สามารถสู้สงครามการแข่งขันทุกหนักหน่วงนี้ไหวและหยุดดำเนินกิจการไปเมื่อปี 2554
 
การแข่งขันช่วงเวลานับจากนี้จนถึงสิ้นสุดรอบปี 2556 และต่อเนื่องไปสู่อนาคตข้างหน้าของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกแต่ละราย จึงเต็มเปี่ยมด้วยสีสันและกลยุทธ์ที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย เพราะผู้ประกอบการทุกรายต่างต้องแสวงหาโอกาส ช่วงชิงพื้นที่ และระดมสรรพกำลังความสามารถในการสร้างจุดขายและความแตกต่างโดดเด่น สำหรับการดึงดูดกำลังซื้อที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอย่างจำกัด จากผลของภาวะเศรษฐกิจขาลงในระยะถัดไปจากนี้
 
ข้อเท็จจริงในโลกทุนนิยม ที่ส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะแบบบริโภคนิยมอย่างหนักหน่วงนี้ นอกจากจะฉายภาพการแข่งขันที่รุนแรง ภายใต้ความคิดที่ว่าการแข่งขันย่อมทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นนั้น บางครั้งบางทีเมื่อถึงที่สุดแห่งบทสรุปแล้ว ผู้บริโภคแต่ละรายอาจมีสภาพเป็นเพียง เหยื่อที่ติดกับดักและไม่สามารถดิ้นหลุดออกไปได้เท่านั้น

Category: 

ทิศทางอสังหาฯ ไทย ในสายตาผู้นำตลาด

$
0
0
 
พลันที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยมีมูลค่าคิดเป็น 5-6% ของ GDP ซึ่งมีมูลค่ารวม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท นั่นก็หมายความว่ามูลค่าธุรกิจอสังหาฯ สูงถึงราว 6 แสนล้านบาทเลยทีเดียว 
 
ข้อมูลนี้ถูกนำเสนอผ่านเวทีสัมมนาที่มีชื่อว่า “ทิศทางเศรษฐกิจ-อสังหาริมทรัพย์ไทยในสายตาผู้นำ” โดยไฮไลต์ของงานนี้ อยู่ที่การบรรยายของอนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการ บมจ. แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่นานๆ จึงจะยอมออกงานที่ไม่ใช่พิธีเปิดธุรกิจของบริษัทในเครือตนเอง 
 
อนันต์สรุปถึงกุญแจสำคัญที่นำมาความสำเร็จของ L&H เอาไว้ 2 ประการ ได้แก่ การลดต้นทุนคงที่ หรือ ต้นทุนค่าโสหุ้ย (Overhead Cost) และการเพิ่มยอดขาย เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนน่าจะตระหนักถึงความสำคัญของ ‘กุญแจ’ 2 ดอกนี้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่แนวทางการปฏิบัติในแบบฉบับของ L&H มากกว่า
 
“ดูจากตัวเลขไตรมาส 3 ของหลายๆ บริษัทจดทะเบียนอัตรากำไรขั้นต้น (margin) เหมือนกันหมดคือประมาณ 35% แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันเยอะมากคือ Overhead Cost บริษัทที่มีต้นทุนต่ำสุดคือ ต่ำกว่า 10% ขณะที่บริษัทที่ต้นทุนสูงสุดคือ สูงกว่า 25% ฉะนั้นกำไรสุทธิที่ต่างกันจึงเกิดจากการบริหารต้นทุนคงที่ที่ไม่เท่ากัน” บริษัทที่อนันต์กล่าวว่ามีต้นทุนค่าโสหุ้ยต่ำที่สุดน่าจะหมายถึง L&H เพราะถือเป็นนโยบายที่แม่ทัพใหญ่ตั้งไว้ให้กับทีมงานว่าจะต้องคุมต้นทุนคงที่ของบริษัทให้ต่ำกว่า 10% เสมอ
 
สำหรับวิธีลดต้นทุนค่าโสหุ้ยที่อนันต์แนะนำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ L&H ปฏิบัติมานับตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คือการควบคุมจำนวนพนักงาน โดยในปี 2540 ซึ่ง L&H มียอดขายราว 1 หมื่นล้านบาท ขณะนั้นบริษัทมีพนักงานราว 600 กว่าคน และคงอยู่ที่จำนวนนี้มาจนถึงวันนี้ ที่บริษัทมียอดขายและยอดจองเกือบ 3 หมื่นล้านบาท  
 
“ถ้าไม่จำเป็น อย่ารับคนเพิ่ม ถ้ามีความจำเป็น ก็อย่ารับคนเพิ่ม ใช้กฎข้อนี้จะทำให้ต้นทุนคงที่ต่ำมาก เพราะทำให้แต่ละคนในบริษัททำได้หลายอย่าง และเมื่อไหร่มีตำแหน่งไหนที่คิดว่าไม่ต้องมีบริษัทก็ไม่เดือดร้อน แสดงว่ายังสามารถลดต้นทุนได้อีก” อนันต์เล่าติดตลกว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยนั่งคิดเลยเถิดไปว่า ตำแหน่งเลขานุการยังจำเป็นกับเขาไหม  
 
หลังจากไตร่ตรองเรื่องการลดพนักงานจนถี่ถ้วน อนันต์บอกว่า ทุกวันนี้ L&H ไม่มีฝ่ายจัดซื้อด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าบริษัทคัดคนเข้ามาดีพอ ทุกคนน่าจะซื้อของภายใต้งบประมาณและร้านค้าที่บริษัทจำกัดไว้ได้ นอกจากนี้ อีกฝ่ายที่ไม่มีใน L&H คือ ฝ่ายบุคคล แต่มีเสมียนที่ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการฝึกอบรมให้กับแต่ละฝ่าย
 
“ฝ่ายบุคคลคือ คนที่เราจ้างมาทำบัญชีเพื่อตัดเงินเวลาพนักงานขาด สาย ลาป่วย แต่เงินเดือนบวกผลประโยชน์ที่ออฟฟิศต้องจ่ายให้กับคนทำงานฝ่ายนี้ ปรากฏว่ามากกว่าเงินที่ได้จากการขาดสายลาป่วย ฉะนั้นไม่ต้องคิดเรื่องขาดสายลาป่วย เราใช้วิธีเก็บคะแนนไว้เพื่อตัดเงินเดือนส่วนที่จะให้เขาเมื่อสิ้นปี อันนั้นเท่ากับตัดเขาตลอดชีวิต เพราะมันคือฐานเงินเดือนที่จะเป็นตัวคูณสำหรับการขึ้นเงินเดือนของเขาไปตลอดชีวิตการทำงาน” 
 
ทั้งนี้ ฝ่ายที่ L&H ให้ความสำคัญและลงทุนค่อนข้างมากคือ ฝ่าย IT ซึ่งมีพนักงานราว 12 คน 
 
นอกจากนี้ ต้นทุนสำคัญอีกตัวที่ต้องลดลง คือ ต้นทุนค่าโฆษณา โดยอนันต์มองว่า หมดยุคของการโฆษณาลงหนังสือพิมพ์ ขณะที่สื่อโทรทัศน์อาจจะยังต้องคงไว้บ้างเพื่อรักษาแบรนดิ้ง แต่นับจากนี้ไป สื่อที่ L&H จะให้ความสำคัญกับ Online Marketing และ Social Network มากขึ้น เพราะเป็นการสื่อสาร 1:1 และเจาะหาลูกค้าแบบรายบุคคล ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพกว่าเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ใช้ 
 
อย่างไรก็ดี อนันต์มองว่า การโฆษณาสินค้าและสร้างแบรนด์ที่ดีที่สุด คือการจ่ายคืนให้ลูกบ้านด้วยบริการหลังการขายที่ดี โดยทุกโครงการของ L&H จะมีการตั้งสำรองค่าซ่อมแซมบ้านฟรีให้กับแต่ละหลัง 
 
“ปกติงบโฆษณาที่บริษัทอสังหาฯ ใช้คือ 2.5-3% ของยอดขาย สมมุติยอดขาย 4 พันล้านบาท เราก็ต้องใช้งบร้อยล้านบาท ถ้าบ้านหลังละ 3 ล้านบาท ก็เท่ากับ 1,300 หลัง ตกหลังละ 7 หมื่นบาท แต่ถ้าเราไม่โฆษณาแล้วเอาเงินก้อนนี้ไปสำรองเป็นค่าซ่อมบ้าน พอลูกค้าเรียกปั๊บเรารีบไปซ่อมเลย ฟรีด้วย ปรากฏลูกค้าชมแล้วชมอีก ทำไมเราไม่คิดกลับทาง”
 
หลักการเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้กับการสร้างแบรนด์ศูนย์การค้า ‘Terminal 21’ คือแทนที่จะทุ่มเงินเป็นงบโฆษณา อนันต์นำเงินก้อนนั้นมาจ่ายกลับคืนให้ลูกค้า ผ่านการยอมขาดทุนรายได้จาก Food Court ปีละ 20 ล้านบาท เพื่อให้ลูกค้าเข้าศูนย์ และงบอีกประมาณ 5 ล้านกว่า ในการทำห้องน้ำให้เป็น Talk-of-the-Town โดยในปีหน้าที่ L&H จะลงทุนสร้างศูนย์การค้าในต่างจังหวัด 4 แห่ง เขายืนยันว่าจะทำห้องน้ำให้เป็นที่ฮือฮาเช่นเดิม  
 
ส่วนแนวทางเพิ่มยอดขาย อนันต์ย้ำบ่อยครั้งว่า การเพิ่มยอดขายของ L&H ไม่ใช่การเน้นปริมาณยูนิตที่ขาย แต่เป็นการตั้งราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่ม ‘มาร์จิน’ ที่ดีกว่า โดยสิ่งที่จะทำให้ทำเช่นนั้นได้คือ ต้องรักษาคุณภาพของสินค้า บริการ และเวลา
 
ทั้งนี้ หลักการที่ L&H ใช้มาตลอด 40 ปีคือ การสร้างให้เสร็จก่อนขาย ในขณะที่หลายบริษัทเลือกที่จะขายใบจองให้หมดก่อนที่จะสร้างเสร็จ แล้วนำเงินที่ได้ไปหมุนให้เร็วเพื่อจะได้ทำรายได้ได้หลายรอบ
 
“ถ้าสร้างเร็วแล้วขายไม่ทันความเสี่ยงก็เยอะ ก็เลยหาทางระงับความเสี่ยงด้วยการจองล่วงหน้าให้หมด เป็นสิ่งที่หลายบริษัทไม่สามารถก้าวข้ามได้ คือไม่กล้าสร้างให้เสร็จก่อนขาย ทั้งที่จริงผมว่า ใช้เงินหมุนเวียนน้อยกว่าเยอะ เวลาลูกค้าไปไซต์งานมีแต่บ้านที่เสร็จแล้ว ลูกค้าไม่ต้องมาตรวจบ้านที่ยังไม่เสร็จ ลองนึกว่าถ้าลูกค้าจองซื้อรถ แล้วไปโรงงานขอเปลี่ยนเบาะเปลี่ยนพวงมาลัย ไหนจะเสียเวลา แล้วไลน์การผลิตก็เจ๊งหมด” 
 
ในฐานะผู้นำตลาด อนันต์เตือนว่า การที่บริษัทมียอดจอง (Backlog) ล่วงหน้าเป็น 2-3 ปี เพื่อสร้างความสบายใจให้ตัวเอง แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ต้องนึกถึงคือ ต้นทุนที่บริษัทต้องแบกรับไว้เต็มไปหมด ไหนยังมีค่าเสียโอกาสในการขึ้นราคาขายในอนาคต 
 
“การขายจึงไม่ใช่ทุกอย่าง เราพลาดตรงนี้กันเยอะมาก มัวแต่รีบขายจนลืมคิดว่ามาร์จินสามารถปรับได้ดีกว่า ผมจะละเอียดมากในเรื่องการตั้งราคาและดูมาร์จินเราจะค่อยๆ ศึกษาว่าราคาไปได้แค่ไหน แต่ละรายรับได้แค่ไหน แล้วก็อย่าคิดว่าเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาแล้วจะสบายใจได้ เพราะไม่มีผู้รับเหมาไหนยอมทำงานที่ทำแล้วจะขาดทุน หลายบริษัทอาจทิ้งงานไปเลยก็ได้ ฉะนั้นปีหน้า คนที่มี Backlog มาก น่าจะเจอปัญหานี้เยอะ” 
 
แม่ทัพใหญ่แห่ง L&H ทิ้งท้ายเพื่อกระตุกเตือนเพื่อนร่วมธุรกิจว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาไม่ใช่ตัวเลขบรรทัดแรกของงบการเงิน (ยอดขาย) แต่ควรเป็นตัวเลขบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) คือกำไรสุทธิ 
 
พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “อย่าไปบ้าตามหนังสือพิมพ์ พอเห็นคนอื่นขายเยอะก็จะขายบ้าง ให้กลับไปดูเรื่องการพัฒนาองค์กรตัวเองให้มากขึ้นดีกว่า ว่าเราประหยัดอะไรได้อีก” 
 
Category: 

“อิเกีย” บุกเมือง ดาวกระจายขยายฐาน

$
0
0
 
แม้ “อิคาโน่กรุ๊ป” กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่จากสวีเดนและเจ้าของเชนสโตร์ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ครบวงจร “อิเกีย” จับมือกับค่ายสยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ทุ่มทุนกว่า 12,000 ล้านบาท สร้างไฮบริดจ์มอลล์ “เมกาบางนา” และผุด “อิเกียสโตร์” สาขาแรกในไทย บนเนื้อที่กว่า 254 ไร่ เลียบถนนบางนา-ตราด กลายเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ดึงดูดผู้คนมากกว่าปีละ 4 ล้านคน แต่ 2 ปีที่ผ่านมา “อิเกีย” กลับช่วงชิงส่วนแบ่งได้น้อยมากชนิด “ไม่ติดฝุ่น” คู่แข่ง จนล่าสุดต้องงัดกลยุทธ์ “บุกเมือง” เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด ตามแผน “Market Leader” ภายใน 5 ปี 
 
ประมาณกันว่า เม็ดเงินในตลาดค้าวัสดุมีมูลค่าเกือบ 400,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนอยู่ในตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน หรือ “โฮมเซ็นเตอร์” กว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มอัตราขยายตัวสูงต่อเนื่องตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างร้อนแรง 
 
แม้ “อิเกีย” เป็นชนวนสำคัญที่จุดระเบิดในสมรภูมิธุรกิจโฮมเซ็นเตอร์ เปลี่ยนรูปแบบการขยายสาขาของคู่แข่งที่เน้นความใหญ่ ครบวงจร และราคาคุ้มค่าในดีไซน์ถูกใจคนรุ่นใหม่ แต่การมีสโตร์เพียงสาขาเดียวเป็นจุดอ่อนสำคัญ โดยเฉพาะเจ้าตลาดที่มีจำนวนสาขามากสุด 5 อันดับแรก ไล่มาตั้งแต่ “โฮมโปร” ที่ลุยขยายสาขาปูพรมทั่วประเทศถึง 64 แห่ง ตามด้วย “ไทวัสดุ” 41 สาขา โกลบอลเฮ้าส์ 30 สาขา อินเด็กซ์ 19 สาขา และเอสบีเฟอร์นิเจอร์ 17 สาขา 
 
ขณะเดียวกัน หลายเจ้าใช้กลยุทธ์แตก “แบรนด์” เพื่อสยายปีกจับลูกค้าทุกกลุ่ม อย่างบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) นอกจากฝังรากเจาะตลาดโฮมเซ็นเตอร์ภายใต้แบรนด์ “โฮมโปร” มานานกว่า 18 ปี ล่าสุดเปิดตัว “เมกาโฮม” เจาะกลุ่มผู้รับเหมา ช่าง เจ้าของโครงการ เจ้าของบ้าน ร้านค้าช่วงและร้านค้าย่อย มีสินค้าตั้งแต่หมวดวัสดุก่อสร้าง  หมวดวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งและซ่อมแซม  หมวดสินค้าตกแต่งและเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าสำเพ็ง เน้นจุดขาย “ราคาถูก” 
 
กลุ่มซีอาร์ซี เพาเวอร์รีเทล ในเครือเซ็นทรัลหลังจากยกเครื่องธุรกิจ แบ่งกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าตามโครงสร้างใหม่ 3 แบรนด์ คือ “โฮมเวิร์ค” เป็นศูนย์ติดแอร์จับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง  “ไทวัสดุ” ศูนย์จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องมือช่างแบบไม่ติดแอร์ จับกลุ่มลูกค้ากลาง-ล่าง เน้นสินค้าราคาถูก รองรับกลุ่มผู้รับเหมารายย่อย ช่าง เจ้าของบ้านทั่วไป และล่าสุดเปิดตัว “baan & BEYOND” วางตำแหน่งเป็นศูนย์ติดแอร์ จับกลุ่มลูกค้าระดับบน โดยมีความเป็นไปได้ว่า จะปรับ “โฮมเวิร์ค” กลายมาเป็น “baan & BEYOND” ทั้งหมด
 
ส่วน “อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์” และ “เอสบีเฟอร์นิเจอร์” แม้จำนวนสาขาไม่ได้มากมายเท่า “โฮมโปร” แต่แยกแบรนด์รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งระดับบนและระดับกลางถึงล่าง โดย “อินเด็กซ์” มีแบรนด์ “วินเนอร์” ใช้วิธีเปิดโชว์รูมผ่านศูนย์การค้าและร้านตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) 
 
ขณะที่ “เอสบีเฟอร์นิเจอร์” แม้วางแผนขยายเพียง 2 สาขา  คือ  เอสบี ดีไซน์สแควร์ สาขาราชพฤกษ์ ภายใต้โมเดลคอมมูนิตี้มอลล์ที่จับมือกับ เค.อี.แลนด์ เจ้าของโครงการ “เดอะคริสตัล” กับสาขาบางใหญ่ในโครงการเซ็นทรัลเวสต์เกต บางใหญ่ แต่ “เอสบี” ใช้แบรนด์ “คอนเซ็ปต์” (Koncept) เป็นตัวทำตลาดแมสมานานกว่า 10 ปี และจับมือกับดีลเลอร์เจาะทุกพื้นที่  โดยแบ่งเป็นเอสบีดีไซน์สแควร์ 10 สาขาและเพิ่มเป็น 12 สาขาในปีหน้า 
 
โชว์รูมเอสบี  7 สาขา เอสบีดีลเลอร์ 13 สาขา เอสบีในศูนย์โฮมโปร 13 สาขา โชว์รูปคอนเซ็ปต์ 3 สาขา และคอนเซ็ปต์ดีลเลอร์อีก 127 สาขา หรือรวมเครือข่ายทั้งหมดมากกว่า 170 จุดทั่วประเทศไทย 
 
ลาเซีย เชอร์ล็อค ผู้จัดการสโตร์ อิเกีย บางนา กล่าวกับ ผู้จัดการ 360 ํ ว่า อิเกียตั้งเป้าต้องการเป็น Market Leader ในตลาดและต้องการสร้างความแตกต่าง แต่ต้องใช้เวลาสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย แนวคิดและแนวทางการทำธุรกิจที่เน้นดีไซน์ คุณภาพ ราคาที่คุ้มค่า การบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง โดยเฉพาะการบริการตัวเอง หรือ Self serve  ซึ่งเป็นการลดต้นทุนที่ทำให้อิเกียทำราคาสินค้าทุกชิ้นต่ำกว่าท้องตลาดและต่ำกว่าคู่แข่งได้ 
 
“การสร้างแบรนด์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างได้ผลดี โดยเฉพาะบริการเซลฟ์เสิร์ฟที่ลูกค้าคนไทยตอบรับดีเกินคาด แต่การมีสาขาเดียวทำให้อิเกียยังไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าคนกรุงเทพฯ ทั้งหมดได้ ซึ่งจากการทำผลสำรวจ Brand Capital เมื่อปีที่แล้ว อิเกียยังมีคนรู้จักจำนวนน้อย เรื่องส่วนแบ่งยิ่งไม่ต้องพูดถึง จะต้องดูผลสำรวจล่าสุดที่จะเปิดเผยในเดือนมกราคม 2557 จะเห็นผลชัดเจนว่า อิเกียเริ่มเป็นแบรนด์ในใจคนไทยหรือยัง”
 
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับอิเกียสโตร์ในต่างประเทศที่มีการลงทุนทั่วโลก 42 ประเทศ 348 สาขา ถือว่า อิเกียสโตร์ในไทยเติบโตรวดเร็วมากในระยะเวลาเพียง 2 ปี โดยมีอัตราเติบโตของยอดขายเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 14% รองจากอิเกียสโตร์ ประเทศคูเวตที่เติบโต 18% โดยอิเกียเข้าลงทุนในคูเวตเมื่อ 5 ปีก่อน ล่าสุดเปิดแล้ว 2 สาขา 
 
ส่วนอิเกียสโตร์ที่มีอัตราเติบโตสูงสุดอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ 21% มีจำนวนสาขา 7 แห่ง และอิเกียลงทุนมานานเกือบ 20 ปีแล้ว
 
ทั้งนี้ ลาเซียยืนยันว่า จะผลักดันอัตราเติบโตของอิเกียสโตร์ในไทยขึ้นอันดับ 1 ภายในเวลา 2 ปี และจะทำให้คนไทยรู้จักแบรนด์ “อิเกีย” อย่างแพร่หลาย ติดอันดับในตลาดภายในเวลา 3-5 ปี จากปัจจุบันมียอดผู้เยี่ยมชม 3.5 ล้านคนต่อปี จะเพิ่มเป็น 3.7 ล้านคนในปีหน้า  ยอดซื้อต่อครั้ง 3,000-4,000 บาท  ส่วนยอดสมาชิกบัตร อิเกีย แฟมิลี่ 290,000 บัตร จะเพิ่มทะลุ 310,000 บัตรในปีหน้า
 
โจทย์ข้อสำคัญจึงอยู่ที่การเข้าถึงลูกค้าและการขยายฐาน นอกจากการเปิดสาขาตามแผนลงทุนของอิคาโน่กรุ๊ปที่จะผุด “อิเกียสโตร์” อย่างน้อย 2-3 สาขา เพื่อสร้างเครือข่ายการทำตลาดทั้งกรุงเทพฯ ด้านตะวันตกและตอนเหนือ ซึ่งล่าสุดบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับอิคาโน่กรุ๊ปและบริษัท ไทย วนาสิริ จำกัด 2% เปิดบริษัทร่วมทุนใหม่ ชื่อว่า บริษัท นอร์ธ บางกอก ดีเวลอปเมนท์ เพื่อพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าแห่งใหม่ “เมการังสิต” บริเวณถนนรังสิต-นครนายก จังหวัดปทุมธานี ขนาด 250 ไร่
 
ส่วนทางทิศตะวันตกจะอยู่บริเวณแยกบางใหญ่ หรือ “เมกาบางใหญ่” ขนาด 50 ไร่ แต่ยังมีการซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อขยายขนาดโครงการ เนื่องจากวางรูปแบบใกล้เคียงกับเมกาบางนา ซึ่งอิเกียเองกำลังพิจารณาการเปิดสาขาว่าจะขยายสาขาตามโครงการเมกา หรือเปิดสาขาสแตนด์อะโลน เนื่องจากต้องการที่ดินขนาดใหญ่เพื่อเปิดสาขาขนาดพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50,000 ตารางเมตร รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างครบวงจรและเต็มรูปแบบ 
 
การทำการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าระหว่างการรออิเกียสโตร์ สาขา 2 จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2556 และตลอดปี 2557 
 
ลาเซีย กล่าวว่าการทำตลาดของอิเกียยังเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือคุณภาพสินค้า ดีไซน์ และราคาย่อมเยา ซึ่งยึดนโยบายการตั้งราคาต่ำกว่าคู่แข่งภายในประเทศมากกว่า 10-20% เพราะเป็นจุดขายที่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ฉลาดในการเลือกซื้อสินค้า รวมถึงการแจกแค็ตตาล็อก “อิเกีย 201” ความหนา 320 หน้า จำนวน 1.2 ล้านเล่ม ซึ่งเล่มนี้ยึดคอนเซ็ปต์สินค้า “Living with Children” มีสินค้าใหม่ 1,200 รายการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสำหรับเด็ก อายุ 8-12  ปี เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าของอิเกียที่เป็นกลุ่มครอบครัวที่มีเด็กกว่า 60%
 
ล่าสุด อิเกียเปิดกลยุทธ์ใหม่ สร้าง “ป๊อปอัพสโตร์” ขนาด 580 ตร.ม. ใจกลางสยามสแควร์ โดยจำลองส่วนต่างๆ ของบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอนใหญ่ ห้องนอนเด็ก ตู้เสื้อผ้าแบบวอล์กอิน ห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร โดยจัดพื้นที่ให้ข้อมูลแบบอินเตอร์แอ็คทีฟที่ผู้เข้าชมสามารถดูแค็ตตาล็อกอิเกีย 2014 บนไอแพด ออกแบบห้องในมุมมองเสมือนจริงด้วยเฟอร์นิเจอร์อิเกีย สามารถนั่งพักผ่อน เล่นเกม ฟังเพลง และทานอาหารประจำชาติสวีเดน
 
สำหรับ อิเกียป๊อปอัพสโตร์จะเปิดบริการจนถึงวันที่ 8 ธ.ค.และเดินสายไปเปิดแห่งที่ 2 ที่อเวนิว รัชโยธิน ระหว่างวันที่ 14 ธ.ค. ยาวไปจนวันที่ 2 ก.พ.ปีหน้า
 
ทั้งนี้ แนวคิดป๊อปอัพสโตร์ในไทยถือเป็นการทำตลาดต่างจากอิเกียสโตร์ในประเทศอื่นๆ ซึ่งใช้พื้นที่ขนาดเล็ก แค่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 1 คีออส และไม่มีการจำหน่ายสินค้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากอิคาโน่กรุ๊ปตั้งเป้าแจ้งเกิดแบรนด์ “อิเกีย” ในไทยให้ได้ ท่ามกลางสงครามการแข่งขันที่รุนแรง และเป็นการบุกเมือง บุกใจกลางกรุงเทพฯ เน้นพื้นที่ดาวน์ทาวน์ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ กลุ่มไลฟ์สไตล์และต้องการสินค้าดีไซน์ ราคาคุ้มค่า สามารถจับจ่ายได้
 
หากผลตอบรับทั้งที่สยามสแควร์และรัชโยธินประสบความสำเร็จ อิเกียวางแผนเปิดป๊อปอัพสโตร์ในทุกจุดดาวน์ทาวน์ของกรุงเทพฯ ให้คนรู้จักแบรนด์และตัวตนของอิเกีย สินค้าสไตล์คนรุ่นใหม่ เพื่อสุดท้ายลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าในอิเกียบางนาและในสาขาใหม่ๆ ที่ครอบคลุมสี่มุมเมืองของกรุงเทพฯ 
 
ตลาดโฮมเซ็นเตอร์ที่มีผู้เล่นเจ้าใหญ่ทุนหนานับสิบราย การบุกเมืองและเดินสายดาวกระจายแบบต้องชนะ ด้านหนึ่ง เป็นสงครามการแข่งขันที่มีสีสัน แต่อีกด้านหนึ่งกำลังสะท้อนภาพหายนะ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “สยามโกล บอลเฮ้าส์” ของกลุ่มสุริยวนากุล ต้องดึงเครือซิเมนต์ไทยเข้ามาถือหุ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนเป็นตัวอย่างหนึ่ง ความจริงประการสำคัญของธุรกิจเทรนด์ใหม่ ร้านค้ารายย่อยไม่ปรับตัวมีสิทธิ์ตายได้แน่นอน 
 

Category: 

สำรวจสงคราม “สี” ชิงพื้นที่ตลาด 2 หมื่นล้าน

$
0
0
 
 
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนระอุในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการซ่อมแซมบ้านเพื่อรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเดินทางมาถึงในช่วงปีใหม่ ที่ทำให้ตลาดวัสดุก่อสร้างมีความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายประการเลยทีเดียว
                
ตลาดสีทาบ้านเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีการแข่งขันกันอย่างอย่างรุนแรงและดุเดือด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แรงซื้อในตลาดค่อนข้างหดตัว จากภาวะหนี้สินครัวเรือนที่พุ่ง การเมืองที่ร้อนแรง ส่งผลให้ในปีนี้ตลาดสี ที่มีมูลค่าประมาณ 20,000  ล้านบาท อาจลดลงเหลือประมาณ17,000  ล้านบาท
 
แต่กระนั้นเหล่าบรรดาแบรนด์ค่ายสีต่างๆ  ต่างออกกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพของสี  นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น หรือโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ เป็นเครื่องมือกระตุ้นต่อมความต้องการของลูกค้าเพื่อออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
 
ในขณะที่เบอร์หนึ่งของตลาดสี  TOA  ที่ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% พร้อมกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอกย้ำความเป็นผู้นำเทคโนโลยีสีด้วยการ เปิดตัว TOA Color World เครื่องผสมสีอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized Tinting System)  เครื่องผสมสีนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของร้านค้าที่ช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันทีในเรื่องความหลากหลายของเฉดสี พร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ที่ถือเป็นจุดขายสำคัญ อย่างหนึ่งของเครื่องผสมสีเพื่อสุขภาพ คือสามารถลดการปล่อยสาร VOCs (Volatile Organic Compounds) สารระเหยที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและก่อมะเร็ง ให้มีค่าต่ำที่สุดในตลาดสีเมืองไทย จึงให้ความปลอดภัยกว่าเดิมถึง 10 เท่า
 
โดยทีโอเอได้ออกแคมเปญนี้พร้อมออกภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ “The Hotel” HYPERLINK “http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=-5s7Tnq3_gI” ซีรีส์ 4 ชุด ภายใต้แนวคิด “ผสมความสุข ตอบทุกสีสันของชีวิต”  ซึ่งหนังโฆษณาชุดนี้คว้ารางวัล  “สุดยอดหนังโฆษณาแห่งปี (Best of Film)” จากหนังโฆษณาชุด “The Hotel” ภายใต้แคมเปญเครื่องผสมสีระบบคอมพิวเตอร์ TOA Color World  จากงานประกาศผลรางวัล Adman & Symposium Award 2013 ของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอีกด้วย
 
ทีโอเอ คาดว่าแคมเปญนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายกว่า 500 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้จากเครื่องผสมสี 5,000 ล้านบาทในปี 2013  ในขณะที่ตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 1.8  หมื่นล้านบาท และเป้าหมายยอดขายรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท  
 
และอีกหนึ่งเกมรุกทางการตลาดเพื่อตอกย้ำการเป็นนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีสีเพื่อชีวิต และสิ่งแวดล้อม  “ทีโอเอ” ได้ผนึกกำลัง “ดูปองท์” บริษัทนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก รุกตลาดสีอัลตร้พรีเมียมด้วยการพัฒนาสุดยอดนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีสีเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม สี SuperShieldTM โดยผลิตภัณฑ์นี้ชนะที่ 1 ของการทดสอบระดับโลก ด้วยมาตรฐาน ASTM E424 จากสหรัฐอเมริกา การทดสอบมาตรฐานสีระดับสากล (World Class Standard)
 
พงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสีทาอาคาร “ทีโอเอ” เปิดเผยว่า บริษัทได้ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อทำตลาดสีทาอาคารในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้  โดยปีนี้ได้ตั้งงบฯ ทำการตลาดไว้ทั้งสิ้น 250-300 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าการแข่งขันจะรุนแรงปลายปี โดยเฉพาะกลุ่มสีราคาสูงอย่างอัลตร้าพรีเมียม และกลุ่มสีพรีเมียม 
 
ปัจจุบันสีทีโอเอวางจำหน่ายตามร้านจำหน่ายสีแล้วประมาณ 5,000 จุด โดยเป็นร้านที่มีเครื่องผสมสีระบบคอมพิวเตอร์ TOA Color World ครอบคลุมอยู่มากกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ และทีโอเอยังมีร้านจำหน่ายสีอีก มากกว่า 3,000 จุด กระจายครอบคลุมอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ มั่นใจว่า SuperShield จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จากทีโอเอที่นำร่องช่วยขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ พร้อมเตรียมความพร้อมการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่จะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสทางธุรกิจสูงมาก  จากจำนวนประชากรกว่า  600   ล้านคน  
 
ด้านสีเบเยอร์  ผู้นำสีย้อมไม้  ที่ได้ปฏิวัติวงการสี ส่งท้ายปี ด้วยการเปิดนวัตกรรมสุดล้ำ “เครื่องขายสีหยอดเหรียญอัตโนมัติ (Beer Be Yours @ Home)  เครื่องแรกในเอเชีย ที่นำเข้าจากอิตาลี พร้อมทุ่มงบ 50  ล้านบาท เปิดแคมเปญ “Beger Be Yours… Be You, Be different!”  โดยหวังดันยอดรายได้ กว่า 700 ล้านบาทในปี  2557
 
วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ รองประธานบริหาร กลุ่มบริษัท สีเบเยอร์ ระบุว่า “ปัจจุบันสีทาบ้าน เติบโตแบบก้าวกระโดด  ผู้บริโภคให้ความสนใจใช้สีตามความชอบ บ่งบอกสไตล์ตัวเอง และใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แคมเปญนี้ได้มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยให้ผู้บริโภคได้ปฏิวัติมุมมองการเลือกซื้อสี ได้ตามที่ใจต้องการ” ซึ่งถือว่า เป็นการปฏิวัติวงการสีทีเดียว และเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ได้มากที่สุด
 
“เครื่องหยอดเหรียญนี้ได้เปิดตัวแล้วในอเมริกาและยุโรป ในขณะที่ไทยเป็นการเปิดตัวครั้งแรกและครั้งแรกในเอเชีย  ซึ่งเครื่องนี้เปรียบเสมือนเป็นทูต ที่จะสื่อเพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงความต้องการของตนเอง และสะท้อนความเป็นตัวตนมากขึ้น โดยสามารถเลือกสีที่ตรงใจ และกล้าที่จะเลือกสีที่ต้องการอย่างแท้จริง และสามารถเลือกตัดสินใจเลือกสีทาบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งเพียงแต่เลือกเฉดสี กดเบอร์เฉดสีที่เลือก และหยอดเหรียญ  และรอเวลาเพียง  4 นาที  คุณก็จะได้ สีที่คุณต้องการมาทดลองทาบนผนังหรือสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งจะเป็น guildline ได้ว่าสีที่คุณเลือกนั้นเหมาะกับสภาพห้องหรือไม่ ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อจริงๆ โดยเครื่องนี้จะวางในที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะป็นตามร้านค้าแบบ Tradition Trade หรือตามสถานที่เด่นๆ ทั่วไป เพื่อดึงดูดให้ลูกค้า” วรวัฒน์กล่าว
 
ซึ่งช่องทางในการจำหน่าย กลุ่มเบเยอร์ได้เน้นช่องทางการสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อตอบรับความเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ สีเบเยอร์จะให้ความสำคัญกับ Digital marketing มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารการตลาดบนสื่อ Social network และ Online marketing ตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันช่องทางการซื้อสีทางออนไลน์ของไทย ยังไม่มี  ในขณะที่จีนหรือสิงค์โปร์ มีการสั่งซื้อทางออนไลน์ แล้ว ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมของสี  
 
ปัจจุบัน เบเยอร์มีศูนย์จำหน่ายสีทั่วประเทศ 1,500 แห่ง โดยในปีหน้ามีแผนจะเพิ่มศูนย์จำหน่ายอีก 200 แห่ง รวมเป็น 1,700 แห่ง
 
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดสีอาคารในปีนี้  เกริกฤทธิ์ แสงทอง ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ ได้มองว่า ปีนี้ ตลาดได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้ที่สูงขึ้น หรือการที่คนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้น แต่คนจะมุ่งเน้นในการจับจ่ายเพื่อเน้นความ entertain มากกว่าการที่จะหันมาซื้อสีทาบ้าน ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีส่วนทำให้สภาวะการซื้อชะลอตัว  
 
“ยอดขายของสีเบเยอร์ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาเติบโตเพียง10% จากเป้าทั้งปีตั้งไว้เติบโต 25% ซึ่งยังถือว่ามีการเติบโตสวนทางกับตลาดสีที่หดตัวถือว่าไม่แย่จนเกินไป” เกริกฤทธิ์กล่าว
 
ด้านแบรนด์สีกัปตันที่รุกทำตลาดภายใต้สโลแกน “ก้าวสำคัญของเรา” ถึงจะมีค่ายสีเบอร์หนึ่ง ทีโอเอ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็อยู่ภายใต้การทำงานที่อิสระโดยปีนี้สีกัปตันวางกลยุทธ์ทางการตลาดโดยเน้นจัดโปรโมชั่น แจกของแถม เช่น เสื้อแจ็กเกต หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และลุ้นโชครางวัล เพื่อเป็นตัวกระตุ้นยอดขายจากลูกค้า รวมทั้งมุ่งเน้นการจัดสัมมนาให้ความรู้กับช่างทาสีทั่วประเทศ  ภายใต้แผนการตลาดในปีนี้ ที่จะสร้างตัวแทนจำหน่ายเป็นหลัก เน้นกิจกรรมส่งเสริมการขาย การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และเทคนิคงานสีต่าง ๆ โดยสี กัปตัน โค๊ทติ้งฯ ตั้งเป้าขยายตัว 30% หรือยอดขายเกือบ 1,500 ล้านบาท 
 
ขณะที่สี เจบีพี  แบรนด์ไทย  100  เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยึดมั่นสโลแกนที่คุ้นหู ว่า  “เจบีพี ใช้ดีจึงบอกเพื่อน”  ได้สานต่อธุรกิจจากรุ่นพ่อมายังลูกชาย ในช่วงเวลา 35 ปีในปีนี้  พร้อมกับการรีเฟรชแบรนด์ และนโยบายหลักของปีนี้ที่ปรับเป้าหมายตลาดสู่สินค้าระดับบนมากขึ้น พร้อมทำการตลาดเชิงรุก เน้นคุณภาพสูง และราคาที่สู้คู่แข่งได้ ผนวกกับการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับดีลเลอร์ และการเข้าถึงผู้บริโภคโดยผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นเพื่อส่งเสริมยอดขายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายศูนย์ผสมสี  JBP Color Universe ไปยังทั่วประเทศด้วย
 
การแข่งขันในตลาดสีด้วยเป้าหมายขยับยอดขายคงระอุร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การช่วงชิงพื้นที่ของกลุ่มสีต่างๆ บนถนนการเมืองไทยมากนัก เพียงแต่เดิมพันในวงการอุตสาหกรรมสี ย่อมไม่อาจเทียบกับเดิมพันใหญ่ว่าด้วยอนาคตของชาติที่มีมูลค่าและคุณค่าอย่างหาค่าไม่ได้นี้
 
Category: 

“อิคาโน่” ปักธง “เมกาซิตี้” สร้าง “ฮับ” รุกสี่มุมเมือง

$
0
0
 
หลังจากปักหมุดแรกผุดศูนย์การค้า “เมกาบางนา” มูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เนื้อที่กว่า 250 ไร่ พื้นที่ 400,000 ตารางเมตร กลายเป็นศูนย์การค้าแนวราบระดับภูมิภาคแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2555 ล่าสุด “อิคาโน่ กรุ๊ป” เดินหน้าแผนขยายบิ๊กโปรเจ็กต์ต่อเนื่อง โครงการ “เมกาซิตี้” เนื้อที่อีก 150ไร่ เพื่อใช้จุดยุทธศาสตร์ “บางนา” สร้าง “ฮับ” และรุกเครือข่ายสาขาใหม่ยึดสี่มุมเมืองของกรุงเทพฯ 
 
แน่นอนว่าศักยภาพของทำเลย่านบางนาไม่ใช่แค่ที่ตั้งชุมชนมากกว่า 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางระดับบน มีกำลังซื้อและมีแนวโน้มการขยายตัวของผู้คนระดับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่อยากอุดอู้อยู่ในบ้านหรือคอนโดมิเนียมในเมือง แต่เลือกที่จะซื้อบ้านหลังใหญ่ในทำเลที่เดินทางเข้าออกเมืองได้สะดวก 
 
ตามผังเมืองใหม่ที่กำหนดให้โซนบางนาเป็นพื้นที่ศูนย์พาณิชยกรรม การเติบโตของกรุงเทพฯ ช่วง 5 ปีข้างหน้าจึงมีแนวโน้มขยายตัวไปทางทิศตะวันออกจากหลายปัจจัย การมีสนามบินสุวรรณภูมิ มีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสอ่อนนุช-แบริ่ง และจะขยายจากแบริ่งไปสถานีสำโรง รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังต้องการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) สาย LRT สุวรรณภูมิ-บางนา เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะทาง 18 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปี 2560 และยังมีระบบรถไฟเชื่อมต่อสุวรรณภูมิ (Airport  Rail Link) ในส่วนขยายถึงแหลมฉบัง หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง สุวรรณภูมิ-แหลมฉบัง
 
เฉพาะการคาดการณ์ใน 2 ปีข้างหน้า ในแง่การขยายตัวของชุมชนจะมีห้องชุดสร้างเสร็จพร้อมโอนกว่า 15,000 ยูนิต รวมถึงโครงการทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และโฮมออฟฟิศ เกิดขึ้นรอบพื้นที่บางนา โดยมีกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่ายใหญ่แห่เข้ามาเปิดตัวโครงการ เช่น ศุภาลัย พฤกษาฯ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แอล.พี.เอ็น. เสนาดีเวลลอปเมนท์ อนันดา อารียา ชนิดที่ราคาที่ดินแพงพุ่งพรวด 30-50% ราคาเฉลี่ย 120,000-150,000 บาทต่อตารางวา
 
คริสเตียน โอลอฟสัน ประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการศูนย์การค้าเมกาบางนา บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด กล่าวกับ ผู้จัดการ360  ํ ว่า เมกาซิตี้จะเป็นโครงการ “มิกซ์ยูส” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้าง “ฮับ” ให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างครบวงจร ทั้งอยู่อาศัย ทำงาน บันเทิง และจับจ่ายสินค้า โดยในเดือนมกราคมปีหน้าจะสรุปแนวคิดของโครงการทั้งหมด เพื่อเจรจาหาพันธมิตรและเริ่มก่อสร้างเฟสแรก ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีเดียวกันหรืออย่างช้าในปี 2558 และทยอยลงทุนก่อสร้างในเฟสต่อไปอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลาทั้งโครงการ 7-10 ปี 
 
เบื้องต้น ตัวโครงการ “เมกาซิตี้” จะประกอบไปด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุมอารีน่าคอนเวนชั่น ศูนย์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยมี “เมกาบางนา” เป็นศูนย์กลางการจับจ่ายของผู้คนในเมืองสมบูรณ์แบบแห่งนี้ และอาคาร โรงแรม ออฟฟิศ คอนโดมิเนียม จะเป็นรูปแบบตึกสูงทั้งหมด เพื่อดึงดูดผู้คนเข้าสู่โครงการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 25-30% จากปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการใน “เมกาบางนา” เฉลี่ย 3-3.5ล้านคนต่อเดือน หรือ 1-2 แสนคนต่อวัน 
 
สำหรับเฟสแรกจะเป็นการสร้างโรงแรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ Business Middle Class Hotel เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจที่เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสามารถใช้โครงสร้างต่างๆ ทั้งพักอาศัย ประชุม และสนุกกับสิ่งบันเทิงต่างๆ ร้านอาหาร ร้านค้า รวมถึงการเดินเล่นในสวนขนาดใหญ่ 
 
ด้านผู้บริหารองค์ประกอบต่างๆ มีความเป็นไปได้ที่อิคาโน่ กรุ๊ป จะใช้เครือข่ายบริษัทลูกเข้ามาดำเนินการ เพราะกลุ่มบริษัท อิคาโน่ กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภทในแถบยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ ได้แก่ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจการประกันภัย  และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีทั้งธุรกิจศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัย ทั้งในประเทศบ้านเกิดอย่างสวีเดน รวมถึงฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชค 
 
ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของ อิคาโน่ หรือ บริษัท อิคาโน่ จำกัด (IKANO Pte. Ltd.) เป็นบริษัทในเครืออินเตอร์ ไอเกีย ซิสเต็มส์ บี.วี. (Inter IKEA Systems B.V.) ดำเนินธุรกิจ ไอเกียสโตร์ ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และธุรกิจศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในรัสเซีย ชื่อ “เมกามอลล์” ซึ่งถือเป็นมอลล์ขนาดใหญ่ติดอันดับท็อปในยุโรป ล่าสุดมีสาขารวม 14 แห่ง สร้างรายได้สูงสุดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของอิคาโน่ กรุ๊ป และเป็นต้นแบบของ “เมกาบางนา” ในไทยด้วย 
 
อีกทางหนึ่ง คือหาพันธมิตรที่มีความชำนาญมากกว่า โดยเฉพาะการบริหารโรงแรม ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจที่ถนัดนัก รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์โครงการ ซึ่งคริสเตียนกล่าวว่า มีการทำศึกษาวิจัยร่วมกับบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) และบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ เพื่อสรุปองค์ประกอบต่างๆ ให้มีศักยภาพมากที่สุด 
 
“การก่อสร้างแต่ละเฟสจะมีความครบวงจรและมีจุดเด่นในตัว หลังจากนั้นจะเติมเต็มให้เมืองสมบูรณ์แบบมากขึ้น เฟสต่อๆ ไปอาจสร้างโรงแรมอีกแห่ง สร้างอารีน่าคอนเวนชั่น แต่ไม่จำเป็นต้องรอเสร็จทั้งโครงการ ส่วนมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมกาซิตี้ เพราะย่านบางนามีโรงเรียนนานาชาติและมหาวิทยาลัยชั้นนำมากกว่าสิบแห่ง แต่เราต้องการสร้างฮับเพื่อรองรับผู้คนอีกมากมาย ทั้งกลุ่มชุมชน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวและนักช้อปจากในเมือง”
 
การสร้าง “ฮับ” จึงเป็นความพยายามกวาดต้อนกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในแง่จำนวนและความหลากหลาย โดยเน้นกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นฐานตลาดที่ใหญ่ที่สุด จากทุกวันนี้ ตัวศูนย์การค้า “เมกาบางนา” ยังต้องสร้างการรับรู้ในแง่ระยะทาง ไม่ใช่ชอปปิ้งมอลล์ชานเมืองที่เข้าถึงไม่ได้ แต่กำลังเป็นดาวน์ทาวน์แห่งใหม่ 
 
ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมศูนย์การค้าเมกาบางนาเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจมาจับจ่ายสินค้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลุ่มคนประเภท Free Foot Floor เหมือนห้างในเมืองที่มีกลุ่มคนเดินเล่นจากสถานีรถไฟฟ้า แต่ไม่จับจ่าย ซึ่งจุดนี้ แม้เป็นจุดแข็งในแง่การได้ลูกค้าตัวจริงและมีการจับจ่ายต่อบิลค่อนข้างสูง เฉลี่ยเกือบ 10,000 บาท แต่เมกาบางนาต้องการกลุ่มเป้าหมายมากมายกว่านั้น  
 
ข้อมูลล่าสุดพบว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เกือบ 80% เป็นกลุ่มคนบางนาและใกล้เคียงในระยะทาง 30 กิโลเมตร เช่น สมุทรปราการ รามอินทรา และพระราม 2 ที่มีทางด่วนวิ่งตรงเข้ามาได้ แต่เป็นกลุ่มลูกค้าในเมืองแค่ 20% 
 
ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกาบางนา กล่าวว่า นอกจากการขยายเฟสใหม่ในโครงการ “เมกาซิตี้” แล้ว ตัวเมกาบางนาจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อีกหลายส่วน ทั้งการปรับปรุงร้านค้าหรือ Tenant Mix เพื่อสนองความต้องการที่โดนใจลูกค้า โดยในกลุ่มร้านค้าทั้งหมดกว่า 800 ร้านค้า แบ่งเป็นกลุ่มผู้เช่าหลัก ซึ่งถือเป็นแม่เหล็กยักษ์ใหญ่ 5 ราย ได้แก่ ร้านเฟอร์นิเจอร์ครบวงจรสัญชาติสวีเดน “อิเกีย” โฮมโปร บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า เมกา ซีนีเพล็กซ์ แบรนด์โรงภาพยนตร์ที่ 6 ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และโรบินสันรูปโฉมใหม่ 
 
กลุ่มผู้เช่ารองอีก 20 ราย ได้แก่ สปอร์ตเวิลด์ ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต พาวเวอร์บาย สยาม ชัย ฟิตเนสเฟิสต์ ทอยอาร์อัส ชิค รีพับบลิก ออฟฟิศเมท ไอทีซิตี้ คอตตอนออน เวิร์คชอป ฟอร์เอฟเวอร์ ทเวนตี้วัน ซาร่า ยูนิโคล่ เอทูแซด ฟู้ดรีพับลิค ซับซีโร่ และบลูโอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสโตร์ขนาดใหญ่และแฟลกชิปสโตร์  ส่วนที่เหลือเป็นผู้เช่ารายย่อยอีก 700 กว่าราย 
 
“แม็กเน็ต 5 รายใหญ่ยังถือเป็นจุดแข็ง แต่จะปรับและเพิ่มกลุ่มร้านค้าต่างๆ ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากขึ้น เน้นกลุ่มแฟชั่นและฟู้ดส์ เพิ่มคิดส์โซน เอดูเคชั่นโซน รองรับกลุ่มครอบครัวที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเมกาบางนา รวมถึงคนทำงาน และนักเรียนนักศึกษา ที่สำคัญคือสร้างกิจกรรม Talk of the Town เพื่อดึงคนในเมืองเข้ามากขึ้นและจัดทุกเดือน”
 
ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าของเมกาบางนาจะต้องเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย 5-10% และจะพุ่งพรวดอย่างน้อย 25-30% เมื่อเปิด “เมกาซิตี้” เฟสแรก 
 
ขณะเดียวกัน “ฮับ” ณ บางนา ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเครือข่ายที่กลุ่มอิคาโน่ กรุ๊ป จะจับมือกับพันธมิตรหลักอย่างบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายสาขา “เมกามอลล์” สาขาต่อไป ซึ่งล่าสุดมีการซื้อและสำรวจที่ดินหลายสิบแปลง ทั้งในเขตตะวันตกย่านบางใหญ่มากกว่า 19 จุด และรังสิตอีก 12 จุด เพื่อเลือกปักหมุดพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดและถูกจังหวะเวลาในการพัฒนามากที่สุด โดยศูนย์การค้าเมกาบางนา 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกย่านบางใหญ่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559
 
ตามเป้าหมายของอิคาโน่ กรุ๊ป หลังจากยึดพื้นที่ครอบคลุมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้แล้วอย่างน้อย 3 สาขา แผนต่อไปจะเดินหน้ารุกตลาดต่างจังหวัดรูปแบบเดียวกับการขยายเมกามอลล์ในประเทศรัสเซีย ซึ่งเริ่มจากใจกลางกรุงมอสโกและใช้เวลา 10 ปี ขยายสาขา 14 แห่ง ปักธงในสมรภูมิค้าปลีกทั่วประเทศ กลายเป็นมอลล์ระดับท็อปในภาคพื้นยุโรป
 
แต่กว่าจะถึงวันนั้นในประเทศไทย ค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากสวีเดนต้องฝ่าด่านหินทั้ง “เซ็นทรัล” และ “เดอะมอลล์” ประเดิมเริ่มต้นสองสมรภูมิ “บางใหญ่-บางนา” สงครามค้าปลีกร้อนทะลุจุดเดือดแน่
 
 
 
Category: 

“ทีซีซี” ปูพรม “เอเชียทีค” เปิด “ลิงค์เกจ” ยึดอาเซียน

$
0
0
 
“ทีซีซีแลนด์” ใช้เวลาปีกว่าๆ ปลุกปั้น “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์” โครงการไลฟ์สไตล์ริมน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียและกำลังเร่งเดินสายโรดโชว์ไปทั่วโลก เพื่อสร้างแบรนด์ “เอเชียทีค” ในฐานะศูนย์การค้ารูปแบบ “ไลฟ์มิวเซียม” ที่มีจุดขายและจุดต่างจากชอปปิ้งมอลล์ค่ายอื่นๆ  
 
เป้าหมายไม่ใช่แค่การเปิด “ลิงค์เกจ” เชื่อมโครงข่ายธุรกิจริมน้ำเจ้าพระยาตามมาสเตอร์แพลน แต่เจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศวิสัยทัศน์ชัดเจน ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าและตลาดเฉพาะทางในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ภายใน 10 ปี มีสาขากระจายอยู่ในทุกประเทศของภูมิภาค
 
การเปิดตัว “เอเชียทีค” สาขาแรกบนที่ดินมากกว่า 70 ไร่ มีหน้ากว้างติดริมแม่น้ำเจ้าพระยายาวกว่า 300 เมตร และพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร จึงพุ่งเป้าสร้างศักยภาพรองรับกลุ่มเป้าหมายระดับนานาชาติ ไม่ใช่คอมมูนิตี้มอลล์จับกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น และวางแผนต่อยอด “บิ๊กโปรเจ็กต์” ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ทั้งในกลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม ค้าปลีก และธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์
 
ฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ บริษัท ริเวอร์ไซด์ มาสเตอร์แพลน ในเครือทีซีซีแลนด์ เปิดเผย ผู้จัดการ360  ํ ว่า ทีซีซีแลนด์ทั้งในระดับผู้บริหารและทีมการตลาดมีแผนโรดโชว์ทั่วโลก ทั้งการพบปะกับนักลงทุนในอาเซียนและนอกอาเซียนอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างแบรนด์ “เอเชียทีค” ในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ดูไบ สิงคโปร์ มาเลเซีย เพื่อนำเสนอเอเชียทีคในฐานะแหล่งท่องเที่ยว “ไนท์มาร์เก็ต” แนวใหม่ 
 
“การโรดโชว์ได้ผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะจุดขายเรื่องต้นแบบ “โอเพ่นมอลล์” ที่มีความเป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น การออกแบบและการทำตลาดที่ต่างจากคู่แข่ง ซึ่งตามแผน 10 ปี นับจากปี 2557 เป้าหมายสูงสุด ต้องขยายเอเชียทีคไปอาเซียนครบทุกประเทศ แต่เป้าหมายแรกตามแผน 3-5 ปี จะขยายสาขาในประเทศไทยอย่างน้อย 3-5 แห่ง สร้างฐานการเป็นผู้นำตลาดเออีซี”
 
ปัจจุบันเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบสาขาแรกแบ่งพื้นที่ในส่วนร้านค้า จำนวนประมาณ  1,500 ร้านค้า โดยร้านค้าประเภทหลักๆ ได้แก่ ร้านขายสินค้านักท่องเที่ยว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ ร้านขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีสถานที่แสดงโชว์ เช่น หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ คาลิปโซ่ คาบาเรต์ และล่าสุดบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ร่วมทุนกับบริษัท ไทยโชว์  2013 จำกัด สร้างโรงละคร “เดอะ สเตท” เพื่อจัดแสดงโชว์มวยไทยไลฟ์ พื้นที่กว่า 2,000 ตร.ม. จำนวน  650 ที่นั่ง  จะเปิดแสดงตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า เพื่อดึงดูดกลุ่มชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป จีน 
 
นอกจากนี้ เตรียมสร้างอาคารร้านค้า 2 ชั้น อีก 1 อาคาร โดยมีผู้จับจองพื้นที่เช่าแล้ว คือ จริญญา หาญณรงค์ อดีตรองนางสาวไทย จะเปิดร้าน “ซุปสตาร์” เจาะกลุ่มวัยรุ่น ในต้นปีหน้า 
 
พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นลานกิจกรรมจัดอีเวนต์ต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต ลานเบียร์ และนำชิงช้าสวรรค์ “เอเชียทีคสกาย” ความสูง 60 เมตร มาสร้างจุดขายดึงดูดกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ  
 
ทั้งนี้ จำนวนลูกค้าของเอเชียทีคในวันธรรมดา เฉลี่ยมากกว่าวันละ 20,000 คน สุดสัปดาห์เฉลี่ยวันละ 60,000-70,000 คน และในช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เฉลี่ยวันละ 1-2 แสนคน รวมถึงงานเคาน์ดาวน์ 2014 ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งจะถ่ายทอดสดผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ไปยังเครือข่ายสถานีทั่วโลก คาดว่ายอดลูกค้าและนักท่องเที่ยวในคืนนั้นจะทะลุมากกว่า  2 แสนคน
 
สำหรับสัดส่วนลูกค้าแบ่งเป็นกลุ่มคนไทย 40%  ยอดจับจ่ายต่อบิลประมาณ 500 บาท กลุ่มลูกค้าต่างชาติ 60% ยอดจับจ่ายต่อบิลเฉลี่ยมากกว่า 1,000 บาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมมาท่องเที่ยวที่เอเชียทีค ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย อเมริกา อินโดนีเซีย อังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย 
 
ฐวัฒน์กล่าวว่า โครงการของเอเชียทีคแห่งใหม่จะใช้แบรนด์ “เอเชียทีค” เป็นตัวหลักและตามด้วยชื่อที่อิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยโครงการแห่งที่ 2 อยู่บริเวณถนนเจริญนคร ฝั่งตรงกันข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 29 ไร่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150,000 ตร.ม.  สาขานี้จะรองรับทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนฝั่งธนบุรี ซึ่งจริงๆ มีกำลังซื้อสูงมาก ดูได้จากการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมจำนวนมาก แต่ขาดแหล่งชอปปิ้ง โดยเฉพาะรูปแบบไลฟ์สไตล์มอลล์ 
 
ตัวโครงการประกอบด้วยโครงการไลฟ์สไตล์มอลล์ โรงแรมขนาดใหญ่ และโรงภาพยนตร์ ซึ่งตัวไลฟ์สไตล์มอลล์จะแบ่งพื้นที่โอเพ่นมอลล์ 50% และอาคารปิดอีก 50% เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าโรงแรมที่สามารถเดินมาจับจ่ายสินค้าและบริการได้ทั้งวันก่อนไปใช้บริการในโอเพ่นมอลล์รูปแบบไนต์มาร์เก็ต และสามารถนั่งเรือหรือกระเช้าลอยฟ้ามาจับจ่ายในเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ ได้ด้วย 
 
สำหรับกระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 700-800 เมตร ได้ทีมสำรวจและออกแบบจากฝรั่งเศส แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเป็นไปได้ในแง่กฎหมายและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเชื่อมต่อโครงการเอเชียทีคฝั่งเจริญกรุงและเจริญนครถือเป็นจุดเริ่มโมเดลการเชื่อมโครงข่ายธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจาก “เจริญ สิริวัฒนภักดี” มีที่ดินขนาดใหญ่อยู่ในมืออีกหลายแปลง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่อเนื่องไปถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
เริ่มตั้งแต่ “เอเชียทีค” ต่อเนื่องกับแปลงที่ 2 บริเวณอาคารอี๊สต์เอเชียติ๊ก ติดโรงแรมโอเรียนเต็ล เป็นอาคารเก่าสไตล์โคโลเนียล
 
แปลงที่ 3 ที่ดินเปล่าทำเล “ทรงวาด” ย่านการค้าของชุมชนชาวจีนในไทย ขนาดประมาณ 1 ไร่เศษ แปลงที่ 4 ที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาเกือบ 20 ไร่ อยู่บนถนนพระราม 3 ถัดจากเอเชียทีคไปไม่ไกลนัก แปลงที่ 5 บริเวณบางโคล่ ฝั่งธนบุรี แปลงที่ 6 ที่ดินริมน้ำในเขตบางกระเจ้า และถนนสรรพาวุธ บางนา ส่วนแปลงที่ 7  ที่ดินริมน้ำย่านบางไทร ใกล้ศูนย์ศิลปาชีพ ประมาณ  3,000 ไร่ ซึ่งตามมาสเตอร์แพลนของกลุ่มทีซีซีต้องการเชื่อมโยงโครงการต่างๆ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและวาง “เอเชียทีค” เป็นลิงค์เกจเชื่อมโยงกลุ่มเป้าหมายตามจุดต่างๆ 
 
ขณะเดียวกัน ตามแผนจะขยายสาขาในต่างจังหวัด หัวเมืองทางเศรษฐกิจในภาคต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลังการเปิดเออีซีในปี 2558 รวมถึงกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง โดยพล็อตจุดแล้วใน 2 จังหวัด คือ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และใน จ.เชียงใหม่ โดยเอเชียทีค ซีไซด์ หัวหิน เป็นการพัฒนาพื้นที่ริมชายหาด ประมาณ 15 ไร่ ส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่บริเวณถนนเจริญประเทศ ซึ่งทั้งเอเชียทีคเจริญนคร หัวหิน และเชียงใหม่ ล้วนมีประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นอย่างยาวนาน 
 
อย่างไรก็ตาม หากเทียบความร้อนแรงของทำเลแล้ว ต้องถือว่า สมรภูมิค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความดุเดือดมาก และรวมผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนา ซึ่งสามารถแจ้งเกิด “ช้อปปิ้งพาราไดซ์” ไม่ต่างจากย่านราชประสงค์ สยามสแควร์ เพียงแต่เปลี่ยนจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นการล่องเรือผ่านจุดต่างๆ และรองรับไลฟ์สไตล์ของบรรดาเศรษฐีที่นิยมพักอาศัยในบ้านหรือคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา 
 
โดยเฉพาะการจับมือกันของ “สยามพิวรรธน์” กับค่าย “แมกโนเลียส์” ของทายาทเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผุดคอมเพล็กซ์มูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท บนที่ดิน 40ไร่ ย่านเจริญนคร  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2558 รวมถึงโครงการที่เพิ่งเปิดให้บริการอย่าง “ชาเทรียม เจริญกรุง” มีทั้งคอนโดมิเนียมหรู  เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และโรงแรมของบริษัทค่ายซิตี้เรียลตี้ จำกัด ในกลุ่มธนาคารกรุงเทพ โครงการแม่น้ำเรสซิเดนท์ เซอร์วิส คอนโดมิเนียม ของกลุ่มโรงแรมรามาดา พลาซ่า แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ โครงการเดอะริเวอร์ เจริญนคร ของบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน)
 
ล่าสุด กลุ่มบริษัท อิตัลไทย เตรียมปรับปรุงภาพลักษณ์ศูนย์การค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ริเวอร์ซิตี้” ครั้งใหญ่ เพื่อรับศึกค้าปลีกริมน้ำด้วย 
 
เมื่อเร็วๆ นี้ ยังมีกลุ่มบริษัท ตลาดยอดพิมาน จำกัด ออกมาเปิดเผยแผนพัฒนาที่ดินบริเวณปากคลองตลาดและตลาดยอดพิมาน เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นชอปปิ้งมอลล์แนวใหม่ภายใต้ชื่อโครงการ “ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค” สร้างอาคารใหม่และระเบียงทางเดินริมน้ำที่ยาวที่สุดบนเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ไทย เฮอริเทจ มอลล์” พื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร สไตล์การตกแต่ง “นีโอ คลาสสิก โคโลเนียล” 
 
การขับเคลื่อนครั้งใหม่ในสงครามค้าปลีก โดยใช้ “เอเชียทีค” เป็นแบรนด์ขยายฐานอย่างกว้างขวาง ทั้งในและนอกประเทศ จับกลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ เสริมทัพเครือข่ายค้าปลีกที่มีอยู่ในอาณาจักรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพันธ์ทิพย์พลาซ่า ดิจิตอลเกตเวย์ เกตเวย์เอกมัย ดรักสโตร์ “โอเกนกิ” และคอนวีเนียนสโตร์ “บีเจซีสมาร์ท” 
 
เปรียบเทียบกับคู่แข่ง เกมการตลาดค้าปลีกทุกตัวของกลุ่มทีซีซีอยู่ที่ความเป็น “Niche” เจาะลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และหากเปรียบเทียบจำนวนสาขา ทำเลทอง เงินทุนของโครงการแต่ละแบรนด์ “เอเชียทีค” คืออาวุธและลิงค์เกจตัวใหม่ที่ “เจริญ” คาดหวังไว้สูงอย่างยิ่ง 
 
Category: 

N-Park ตำนานที่ยังไม่มีบทสรุป

$
0
0
 
หากกล่าวถึงบริษัทผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเรื่องราวเป็นที่โจษขานและหวือหวามากที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าชื่อของ N-PARK หรือ แนเชอรัล พาร์ค คงถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องกล่าวถึงไปโดยปริยาย
 
เหตุที่เป็นดังนี้ก็เนื่องเพราะหลังจากจัดตั้งบริษัทเมื่อเดือนมิถุนายน 2531 และเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยในยุคเริ่มแรกนั้น บริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีสไตล์การทำธุรกิจธรรมดาไม่หวือหวา เช่นเดียวกับท่วงทำนองและความเป็นไปของทศพงศ์ จารุทวี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น ที่ออกจะเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวและพร้อมจะยืนอยู่หลังฉากมากกว่า
 
ความเป็นไปของบริษัทแนเชอรัล พาร์ค และทศพงษ์ เริ่มมีเรื่องราวและสีสันมากขึ้นเมื่อไปซื้อโครงการ สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทและปัญญาฮิลล์ ของปัญญา ควรตระกูล สนามกอล์ฟวิลสันของ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน และสันติ ภิรมย์ภักดี ในปี 2538 เป็นเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท พร้อมๆ กับเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวจัดสรรหลายโครงการ 
 
ชื่อของทศพงศ์ เข้าสู่การรับรู้ของผู้คนในวงที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟที่ไม่เล่นกอล์ฟ แต่เขาซื้อด้วยจิตวิญญาณของนักธุรกิจ ที่หวังว่าจะได้พัฒนาที่ดินรอบๆ สนามกอล์ฟ แต่ความหวังของเขาไม่ทันเริ่มต้นเศรษฐกิจก็พังทลาย ชื่อของเขาดังขึ้นมาวูบเดียวแล้วหายไป ส่วนบริษัทแนเชอรัล พาร์ค ก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลด้วยหนี้สินกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2543
 
N-PARK ใช้เวลา 3 ปีในการระดมทุนจากพันธมิตร ผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนจะได้รับคำสั่งจากศาลล้มละลายกลางยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและกลับมาโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง
 
โดยในครั้งนั้น แนเชอรัล พาร์ค เติมเรื่องราวสีสันให้ฉูดฉาดมากขึ้นด้วยการวาง เสริมสิน สมะลาภา คนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีประวัติการศึกษาจากสถาบัน MIT ที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงิน การลงทุน สามารถคุยกับกลุ่มทุนต่างประเทศได้ มาไว้ในตำแหน่งCEO ของบริษัท ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นภาคใหม่ของแนเชอรัล พาร์ค ในเวลาต่อมา
 
เสริมสินเข้ามามีส่วนร่วมในแนเชอรัล พาร์ค ด้วยบุคลิกที่ดูเหมือนมีความรู้ ซึ่งทำให้เขาเป็นคนรุ่นใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกจับตามอง และเสนอชื่อให้เป็นกรรมการคนหนึ่งของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บทบาทตรงจุดนั้นสร้างโอกาสให้เขาได้ทำงาน ร่วมกับเจ้าของโครงการดังๆ ของเมืองไทยมากมาย และทำให้เขาได้รู้จักทศพงศ์ จารุทวี หรือคนที่เขาเรียกติดปากว่า “พี่เบ้ง” ในเวลาต่อมา
 
เมื่อช่วงวิกฤตเศษฐกิจเกิดขึ้นโอกาสของเสริมสินก็มาถึง เขาตั้งใจจะเข้าไปซื้อหนี้เสียมาทำต่อ ตามคำสอนของ Sam Zale และตามหลักทฤษฎีของ Warren Buffett แต่ “พี่เบ้ง” กลับแนะนำว่า
 
“ระดมทุนคนเดียวไปไม่รอดหรอก มันต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย เพระทุนต้องใช้ตลอด ทำไมไม่หาทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยล่ะ เอาไหม แนเชอรัล พาร์ค ตอนนี้มีแต่เปลือก มีกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมอยู่หน่อย แล้วคุณเข้ามาสวมตรงนี้เลย”
 
นี่คือจุดเริ่มต้นในการเข้ามาบริษัทแนเชอรัล พาร์ค ตามคำบอกเล่าของเสริมสิน โดยวิธีการนี้ แน่นอนทำให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้เร็ว เพิ่มทุนได้เร็ว พันธมิตรแต่ละกลุ่มก็เลยเกิดขึ้น โดยเขาได้เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
 
แต่ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ที่งดงามและข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากนัก เพราะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา N-PARK ยังต้องสาละวนกับเรื่องราวที่ชวนให้ปวดหัวอีกมากมายและคำกล่าวของทศพงศ์ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า “N-Park มีแต่เปลือก” จะกลายเป็นมรดกที่สืบเนื่องต่อมาอีกนาน
 
ในช่วงปี 2547 รายได้หลักของแนเชอรัล พาร์ค ในอนาคตถูกกำหนดไว้ 2 ส่วน คือจากการขาย และรายได้จากการเช่า ซึ่งปัจจุบันมีที่มาสำคัญจากสองบริษัท คือ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน)
 
ทั้ง 2 บริษัทมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างมากทีเดียว
 
อรวรรณ บัณฑิตกุล อดีตนักเขียน ผู้จัดการ เคยบันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าจัดอันดับให้รุ่นของบัญชาเป็น รุ่นที่ 1 ของตระกูลล่ำซำ โชติ จูตระกูล เป็นคนรุ่นที่ 1 ของจูตระกูล อภิชาติและเศรษฐาก็คือคนรุ่นที่ 2 ของ 2 ตระกูลนี้ และจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระอันหนักอึ้งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับตระกูลและคนรุ่นหลังต่อไป
 
โดยบริษัทแสนสิริ เดิมทีมาจากการรวมตัวกันทำธุรกิจของตระกูลพี่ตระกูลน้องสองตระกูล คือ จูตระกูล และล่ำซำ โดยมีอภิชาติ ลูกชายคนที่ 2 ของชนาทิพย์ น้องสาวบัญชา ล่ำซำ ที่แต่งงานกับโชติ จูตระกูล และเศรษฐา ลูกโทนของชดช้อย จูตระกูล ซึ่งแต่งงานกับอำนวย ทวีสิน เป็นตัวแทนคนรุ่นที่ 2 ทำหน้าที่ในการบริหารบริษัทของตระกูล
 
น้องสาวคนหนึ่งของโชติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของอภิชาติ แต่งงานกับ ดร.ประภาส จักกะพาก มีลูกชายคนหนึ่งชื่อปิ่น ดังนั้น อภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการบริษัทแสนสิริ คือลูกผู้พี่ของปิ่น จักกะพาก นี่คือที่มาอันเชื่อมโยงไปถึง “ข่าวลือ” ที่ว่า การซื้อหุ้นของแนเชอรัล พาร์ค ได้มาจากเงินของปิ่น จักกะพาก
 
ในขณะเดียวกัน ทศพงศ์ จารุทวี อดีตกรรมการของบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด ก็คือน้องเขยของเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ เพราะน้องสาวของหมอพักตร์พิไล ทวีสิน คืออดีตภรรยาที่เลิกรากันมานานของทศพงศ์
 
แต่แล้วในปี 2550 ความสัมพันธ์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแนเชอรัล พาร์ค ในแสนสิริ ก็สิ้นสุดลงเมื่อ N-PARK ขายหุ้นที่ถือครองอยู่กว่า 20% ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากฮ่องกง และทำให้ N-Park ไม่ได้อยู่ในฐานะของการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับแรกของแสนสิริอีกต่อไป
 
เรื่องราวของ N-PARK มาสู่ความสนใจของสาธารณะอย่างมากอีกครั้งในช่วงต้นปี 2556 เมื่อปรากฏชื่อของประชา มาลีนนท์ เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนล่าสุดของ บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) ภายใต้เหตุผลว่า ที่เข้าไปลงทุนใน N-PARK ในสัดส่วน 24.50% ของทุนจดทะเบียน หรือจำนวน 2.95 หมื่นล้านหุ้น ด้วยเงินจำนวนประมาณ 900ล้านบาท เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการทำธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจครอบครัวที่ได้ดำเนินธุรกิจมาอยู่แล้ว รวมทั้งต้องการขยายการลงทุน
 
“ที่ผมเข้าไปซื้อ N-PARK เพราะมีคนมาเสนอขาย และเห็นศักยภาพที่มีอยู่ ยังมีอีกหลายโครงการเตรียมที่จะเปิด และยังมีที่ดินอยู่อีก หลังระดมทุนน่าจะเริ่มโครงการ อย่างน้อย 2 โครงการ หลังกระบวนการซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จ จะส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการก่อน คงยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงการบริหาร ผู้บริหารเดิมยังมีฝีมืออยู่” ประชา กล่าว
 
โดย N-Park ในยุคปัจจุบันมี นคร ลักษณกาญจน์ มือบริหารในวัย 53 ปี เป็น กรรมการผู้จัดการ ภายใต้ภารกิจที่จะทำให้ N-Park “เทิร์นอะราวด์” ภายในระยะเวลา 2 ปี
 
นครเข้ามานั่งบริหาร “แนเชอรัล พาร์ค” เมื่อปี 2554 หลัง เสริมสิน สมะลาภา ลาออก ตามคำชักชวนของศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งแม้จะได้พูดคุยกันหลายๆ เรื่องแต่โอกาสและจังหวะอาจยังไม่เอื้อให้เขามากนัก ทั้งที่เชื่อว่า N-Park มีโอกาสจะฟื้นตัวก็ตาม
 
เพราะสิ่งแรกที่ต้องรีบแก้ไขยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับคดีความ เพื่อสะสางปัญหากับทางเจ้าหนี้แต่ละรายให้จบ ขณะที่ธุรกิจยังขาดเงินทุน ซึ่งต้องจัดการกับทรัพย์สินที่ดีก็ควรเก็บไว้ ส่วนทรัพย์สินที่เสียก็ต้องตัดใจขายทิ้งให้หมด เพื่อให้มีเงินทุนมาดำเนินธุรกิจต่อไป
 
“N-Parkเปรียบเหมือนคนที่ตายแล้ว ได้รับการปั๊มหัวใจให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไป ถ้าไม่ติดเรื่องคดีความธุรกิจคงไปไกลแล้ว” นครกล่าวถึงบริษัทที่เขาบริหารไว้อย่างน่าสนใจ
 
แต่ดูเหมือนหนทางข้างหน้าจะไม่ได้ราบเรียบเช่นที่ นครหวังและตั้งใจ เพราะหลังจากที่ประชา มาลีนนท์ ดำรงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน N-Park ได้ไม่นานก็ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกในคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ก่อนจะหลบหนีออกไปต่างประเทศ
 
กรณีดังกล่าวส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ N-PARK อีกครั้ง  แม้ว่านครจะระบุว่า การต้องคำพิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานหรือการทำธุรกิจของบริษัทก็ตาม
 
ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดด้วยการซื้อกิจการโรงแรมในหัวเมืองใหญ่ที่ขอนแก่น และการขยายการลงทุนเพื่อปูทางสู่การรุกธุรกิจที่ดินในอรัญประเทศ ซึ่งอยู่ติดกับตลาดโรงเกลือ ถูกจับตาว่าอาจเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก็กำลังเป็นอีกสีสันหนึ่งของ N-PARK
 
ซึ่งดูเหมือนว่าความเป็นมาและเป็นไปของ N-PARK จะต้องได้รับการบันทึกประหนึ่งมหากาพย์ที่ยากจะคาดการณ์บทสรุปและเป็นกรณีศึกษาไปอีกนาน
 
Category: 

German Christmas Market สีสันแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง

$
0
0
 
Jingle bells, jingle bells
Jingle all the way
Oh, what fun it is to ride
In a one horse open sleigh,  hey!!!
 
ทักทายกันด้วยเพลง Jingle Bells ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าใกล้วันคริสต์มาสเข้ามาแล้ว เสียงเพลงคริสต์มาสเริ่มลอยมาให้เราได้ยิน ต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาอย่างสวยงามตามห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ ออกมาอวดโฉมเชิญชวนให้เราหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพ แม้ว่าเทศกาลวันคริสต์มาสจะไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมของไทย แต่ในปัจจุบันการร่วมเฉลิมฉลองในวันคริสต์มาสดูเหมือนจะกลมกลืนและกลายเป็นสิ่งที่เราคนไทยหลายๆ คนตั้งตารอไปแล้ว
 
วันนี้จะพาไปสัมผัสบรรยากาศของ Christmas Market อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของเทศกาลวันคริสต์มาสทางฝั่งยุโรป เทศกาลที่มีเสน่ห์และสุดแสนจะโรแมนติก สามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและชาวท้องถิ่นให้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานได้ปีละจำนวนมาก และยังเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีอีกด้วย
 
Christmas Market แปลแบบตรงตัวคือ “ตลาดแห่งเทศกาลคริสต์มาส” หรือในภาษาเยอรมันเรียกว่า Christkindlmarkt หรือ Weihnachtsmarkt  เป็นการออกร้านในช่วงเทศกาลก่อนวันคริสต์มาส มีแผงลอยของบรรดาพ่อค้า แม่ขาย นำสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับวันคริสต์มาสออกมาจำหน่าย ทั้งเครื่องประดับตกแต่งต้นคริสต์มาส ของขวัญสำหรับวันคริสต์มาส อาหาร เครื่องดื่ม และยังมีกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ให้ผู้มางานได้ร่วมสนุกโดยจะเริ่มจัดในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนจนถึงวัน Christmas Eve หรือก่อนวันคริสต์มาส 1-2 วัน และยิงยาวไปประมาณ 4 สัปดาห์ โดยเปิดทุกวันตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงราวๆ 3 ทุ่ม
 
Christmas Market มีต้นกำเนิดมาจากที่ใด แรกเริ่มเดิมทีนั้น Christmas Market จัดขึ้นในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย รัฐทิโรล (Tyrol) รัฐที่อยู่ทางทิศตะวันตกของออสเตรีย และแคว้นอาลซัส (Alsac) หนึ่งใน 26 แคว้นของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนทางทิศตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มจัดกันมาตั้งแต่ยุคกลาง แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนหลายๆ ประเทศจะรับเอาเทศกาล Christmas market เข้าไว้เป็นหนึ่งในปฏิทินเทศกาลรื่นเริงของประเทศตนไว้ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากสำนักข่าวต่างประเทศหลายค่ายที่พร้อมใจกันรายงานข่าวพิธีเปิด Christmas Market ของเมืองต่างๆ ทั่วโลกอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงอย่างเป็นทางการ....ว่าแล้วก็เตรียมตัวไปสัมผัส Christmas Market แบบเยอรมัน ต้นกำเนิดแห่งเทศกาลนี้กันเลยดีกว่า.....
 
Christmas Market จัดขึ้นในเยอรมนีตั้งแต่ยุคกลาง โดยจัดขึ้นตามเมืองหรือหมู่บ้านทั่วประเทศ บางเมืองจัดกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 สถานที่จัดส่วนมากจะเป็นจัตุรัสกลางเมือง หรือสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชาวเมือง สำหรับ Christmas Market ของเยอรมันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะเป็น  Christmas Market ที่มีเอกลักษณ์และมีบรรยากาศที่สุดแสนจะโรแมนติก เป็นแหล่งรวบรวมของขวัญสำหรับวันคริสต์มาสแบบแฮนด์เมดและคุณภาพดี เช่น รูปแกะสลักจำลองการประสูติของพระเยยู ของเล่น งานไม้แกะสลัก หุ่นกระบอก เทียนหอม รองเท้าหนังแกะ และพบกับต้นคริสต์มาสที่ประดับประดาแบบดั้งเดิมที่อยู่ในงาน
 
แต่ละเมืองจะมีบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป แล้วก็เลือกยากเสียด้วยว่าเราจะไปที่ไหนดี เพราะน่าสนใจทุกที่ เมืองเล็กๆ บรรยากาศก็โรแมนติกหน่อย แต่ถ้าอยากได้อารมณ์แบบเลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายเมืองใหญ่ๆ คงตอบโจทย์ได้ดีกว่า แล้วแต่ความชอบ ส่วนที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวนั้นได้แก่ Christmas market ของเมือง Augsburg, Dresden, Erfurt, Frankfurt, Nuremberg และ Stuttgar 
 
สำหรับ Christmas Market แห่งเมือง Dresden นั้นเริ่มจัดกันตั้งแต่ ค.ศ. 1434 ว่ากันว่าเป็น Christmas Market ที่โด่งดังที่สุดของเยอรมนี มีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละกว่า 1.5 ล้านคน และไม่น่าแปลกใจว่าหากใครพูดถึง Christmas Market ในเยอรมนีแล้ว มักจะพูดกันถึงที่ Dresden แต่ผู้เขียนว่าถ้ามีเวลาอยากให้ลองไปสัมผัสหลายๆ เมือง แล้วจะรู้ว่าทุกเมืองมีเสน่ห์ตามแบบฉบับของตัวเองทั้งนั้น ดูยังไงก็ไม่เบื่อ (ตามประสาคนชอบเที่ยว) 
 
Christmas Market ของเยอรมนีเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงราวๆ 3ทุ่ม แนะนำว่าควรไปช่วงบ่ายแก่ๆ สักบ่าย 3 เป็นต้นไป จะได้บรรยากาศมาก หรือใครจะไปเร็วกว่านั้นก็ไม่ว่ากัน อากาศหนาวๆ ยิ่งถ้ามีหิมะโปรยปรายแถมฉากหลังเป็น Christmas Market และโบสถ์ที่มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ยิ่งเพิ่มมนตร์เสน่ห์ให้เราหลงใหลแบบไม่รู้ตัว
 
ทันทีที่เราก้าวเข้าไปใน Christmas Market เราจะพบกับแผงขายสินค้าที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้ มีหลังคาหรือกันสาดที่ทำด้วยผ้าหรือผ้าใบสีขาวแดง ประดับตกแต่งแบบธีมวันคริสต์มาสตั้งเรียงรายอยู่ทั่วงาน อบอวลไปด้วยกลิ่นของเกาลัดคั่วและไส้กรอกย่างของขึ้นชื่อของเยอรมันที่ลอยมาเตะจมูก ดึงดูดให้เราควักกระเป๋าซื้อมาลิ้มลอง นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยขนมขบเขคี้ยวหลากหลายชนิด เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของเด็กๆ เลยทีเดียว
 
ที่อยากให้ลองคือขนมปังขิงแบบเยอรมันที่เรียกว่า “Lebkuchen” ขนมประจำช่วงคริสต์มาส มีส่วนผสมหลักอย่าง น้ำตาล น้ำผึ้ง อัลมอนด์ และเครื่องเทศ เราจะเห็น Lebkuchen ขายอยู่ทั่วงาน มีหลากหลายขนาดและรูปทรง ทั้งรูปหัวใจ ดาว ซานตาคลอส สโนว์แมน แถมยังมีข้อความน่ารักๆ เขียนด้วยน้ำตาลประดับไว้ด้วย เห็นแล้วอยากซื้อเอามาประดับบ้านมากกว่าเอามากิน ว่ากันว่า Lebkuchen ที่ขึ้นชื่อที่สุด ต้องเป็น Lebkuchen จากเมือง Nuremberg ของแคว้นบาวาเรีย จะจริงแท้แค่ไหน ต้องลองไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง
 
ของขึ้นชื่ออีกอย่างของเมือง Nuremberg คือไส้กรอกเยอรมันที่เรียกว่า Bratwurst เป็นสูตรดั้งเดิมของเมือง Nuremberg รักษากรรมวิธีการทำที่มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 อย่างดี มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนไส้กรอกเมืองไหนในเยอรมนี ขนาดจะไม่ยาวมาก ราวๆ 7-9 เซนติเมตร ทรงออกเรียวๆ ไม่หนาจนเกินไป Bratwurst ของแท้ต้องนำไปต้มในเบียร์หรือย่างบนตะแกรง เป็นเมนูที่ไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ กินเพลินดีแท้
 
อากาศหนาวๆ ถ้าได้เครื่องดื่มอุ่นๆ อยู่ในมือคงจะดีไม่น้อย...Christmas market ของเยอรมันตอบโจทย์เราได้ค่ะ เลี้ยวเข้าไปที่ซุ้มขายเครื่องดื่มได้เลย เราจะได้ลิ้มรสเครื่องดื่มแห่งเทศกาลคริสต์มาสอย่าง “Gluhwein” หรือไวน์ต้ม (Mulled Wine ตามภาษาอังกฤษ) เป็นไวน์แดงผสมเครื่องเทศ เช่น อบเชย มีส้มฝานบางๆ ใส่น้ำตาลหรือน้ำผึ้งเล็กน้อยแล้วแต่สูตร อุ่นให้ร้อน เสิร์ฟมาในแก้วเซรามิก ให้เราจิบไปพลางชมบรรยากาศตลาดไปพลาง แต่ต้องจ่ายค่ามัดจำแก้วประมาณ 2-3 ยูโร ถ้านำแก้วมาคืนก็จะได้เงินคืน ซึ่งถ้าใครอยากเก็บแก้วไว้เป็นของที่ระลึกก็ไม่มีปัญหา ใครไม่ดื่มไวน์ก็ยังมีโกโก้ร้อนไว้ให้คลายหนาวได้เช่นกัน
 
พรั่งพร้อมไปด้วยขนม อาหาร เครื่องดื่ม และของขวัญของฝากคุณภาพดี บรรยากาศของงานที่มีเสน่ห์และโรแมนติก บวกกับเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม ทำให้ Christmas Market ของเยอรมนีกลายเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวในเดือนธันวาคมที่สำคัญ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ปีละหลายล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากบริษัทนำเที่ยวในประเทศไทยที่เริ่มมีโปรแกรมนำเที่ยว Christmas Market โดยเฉพาะ ออกมาเชิญชวนคนชอบเที่ยวกันบ้างแล้ว ถ้าใครมีโอกาส มีเวลา อยากเพิ่มประสบการณ์ช่วงเทศกาลคริสต์มาสให้กับตัวเอง ลองวางแผนการเดินทางเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของ Christmas Market ที่เยอรมนีดูสักครั้ง แล้วจะติดใจ
Category: 

“ฟาร์มกุ้ง โมเดล” ตอกย้ำทฤษฎี “เจ้าตลาด” ของ CPF

$
0
0
 
แม้กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ (CPF) จะสูงถึง 5,311 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายรวมอยู่ที่ 285,886 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น “อดิเรก ศรีประทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารแห่ง CPF ออกมายอมรับว่า รายได้ปีนี้ของบริษัทน่าจะไต่ไม่ถึงเป้า 4 แสนล้านบาท 
 
โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของโรคตายด่วนในกุ้ง หรือ EMS (Early Mortality Syndrome) ซึ่งสร้างผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจกุ้งของ CPF มากกว่าที่บริษัทคาดไว้ ซึ่งส่งผลให้การผลิตกุ้งของ CPF ในปีนี้หายไปเกือบครึ่งคือ จาก 6-7.5 หมื่นตัน เหลือเพียงกว่า 3 หมื่นตัน 
 
ใกล้เคียงกับภาพรวมผลผลิตกุ้งของประเทศปี 2556 ซึ่งลดลงถึง 54% คือจาก 5.4 แสนตัน ในปี 2555 มาอยู่ที่ 2.5 แสนตัน นายกสมาคมกุ้งไทยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ มูลค่าการส่งออกกุ้งไทยน่าจะลดลงจากรายได้ปกติที่สูงกว่าแสนล้านบาท เหลือเพียง 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นความเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทย
 
สำหรับ CPF ผลกระทบจากโรค EMS ไม่เพียงทำให้รายได้ส่งออกกุ้งของบริษัทลดลง และทำให้การผลิตกุ้งแปรรูปน้อยลง อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนในการผลิตกุ้งของโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้น ผลกระทบของโรค EMS ยังกระเทือนกับอีกแหล่งรายได้สำคัญของ CPF คือรายได้จากการขายลูกกุ้งและอาหารกุ้งให้กับเกษตรกร เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีฟาร์มกุ้งจำนวนมากที่พักบ่อ รอดูผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาโรค EMS 
 
ข้อมูลจากสมาคมกุ้ง ระบุว่า CPF น่าจะถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ในธุรกิจขายลูกพันธุ์กุ้งของไทย และธุรกิจอาหารกุ้ง ซึ่งน่าจะครองส่วนแบ่งตลาดราว 50% ของทั้งหมด  
 
“รายได้จากการขายลูกพันธุ์กุ้ง ปกติปีหนึ่งๆ เราขายลูกพันธุ์กุ้งได้ราว 2.5 หมื่นล้านตัว เป็นเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายอาหารกุ้ง ปีก่อนที่จะมีโรคระบาด เราน่าจะขายได้ราว 450-500 ล้านเหรียญสหรัฐ 1.35-1.5 หมื่นล้านบาท” 
 
นายสัตวแพทย์ สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานอาหารสัตว์น้ำ และสายงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำ แห่ง CPF ยอมรับว่า โรค EMS ส่งผลกระทบให้ธุรกิจการขายลูกกุ้งและอาหารกุ้ง รวมถึงเวชภัณฑ์สำหรับเลี้ยงกุ้ง กระทบอยู่ไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา 
 
จึงไม่น่าแปลกใจที่ CPF จะเป็นบริษัทเอกชนที่มีความตื่นตัวที่สุดในการหาแนวทางแก้ปัญหาโรค EMS โดยเมื่อไม่นานมานี้ CPF ได้เปิดฟาร์มกุ้งระบบโรงเรือนปิดครบวงจรร้อยเพชร เพื่อโชว์เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และระบบการจัดการสุขาภิบาลฟาร์มเพื่อป้องกันโรค เพื่อเพิ่มผลผลิตของบริษัทไปให้ถึง 5 หมื่นตัน ในปีหน้า
 
สำหรับฟาร์มร้อยเพชรเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งหนาแน่นสูงในโรงเรือนปิดด้วยระบบน้ำหมุนเวียนแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นฟาร์มต้นแบบเพื่อใช้เป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีทั้งระบบ และเป็นฟาร์มสาธิตการเลี้ยงระบบโรงเรือนปิด เพื่อป้องกันความสูญเสียจากโรค EMS และเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น
 
“โครงการเลี้ยงกุ้งในระบบปิดต้องลงทุนสูง แค่ที่เรากล้าลงทุนเพราะจริงๆ แล้วนี่ถือเป็นโครงการกึ่งวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อหาระบบที่เหมาะสมมาเลี้ยงกุ้ง เพราะการจะเป็นครัวโลกที่มีแบรนด์ เราต้องการันตี “supply chain” ให้ดี นั่นหมายความว่าเราต้องทำระบบการผลิตที่ควบคุมได้ ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก แต่ถ้านึกถึงปลายน้ำที่บริษัทลงทุนสร้างโรงงานแปรรูป สร้างแบรนด์ สร้างช่องทางตลาดไว้แล้ว ตรงนี้มันคุ้มกับเรา” น.สพ.สุจินต์กล่าว
 
ฟาร์มร้อยเพชรเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2549 ด้วยวิสัยทัศน์ของ “เจ้าสัวธนินท์” สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 3 พันไร่ใน จ.ตราด โดยตั้งอยู่ห่างจากโรงงานแปรรูปของ CPF เพียง 2 ชั่วโมง 
 
ฟาร์มแห่งนี้แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 1.4 พันไร่ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นระบบโรงเรือนปิดครบวงจร กำลังการผลิตกุ้งราว 4.8 พันตัน ส่วนเฟสที่สองมีเนื้อที่ 1.5 พันไร่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 โดยพื้นที่ในเฟสสองจะถูกใช้เป็นพื้นที่ทดลองหารูปแบบฟาร์มระบบปิดที่มีราคาถูกลง เพื่อให้เกษตรกรเกิดแรงจูงใจที่จะนำไปใช้จริง  
 
“เราพยายามสร้างต้นแบบของโรงเรือนระบบปิดของกุ้งขึ้นมา เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วการเลี้ยงกุ้งอาจจะต้องพัฒนาไปสู่ระบบปิดหรือระบบที่เราสามารถควบคุมได้มากขึ้น เหมือนฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู” 
 
ควบคู่กับการพัฒนาระบบการเลี้ยง คือการพัฒนาระบบสายพันธุ์เป็นอีกแนวทางแก้ไขปัญหาโรคระบาด EMS ที่ CPF ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยสายพันธุ์กุ้งในความปรารถนาของ CPF คือ สายพันธุ์ที่เติบโตเร็ว ต้านทานโรคสูง และสามารถเลี้ยงในความหนาแน่นสูงขึ้น หรือการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น 
 
น.สพ.สุจินต์ ระบุว่า ในประเทศไทย ไม่ค่อยมีบริษัทใดอยากพัฒนาเรื่องพันธุ์กุ้ง เนื่องจากการพัฒนาพันธุ์มีต้นทุนสูง ใช้เวลาและบุคลากรมาก แต่ไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) 
 
แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ CPF ยินดีลงทุนในเรื่องพันธุ์กุ้ง เป็นเพราะผลิตภัณฑ์จากกุ้งทะเลเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดโลก อีกเหตุผลสำคัญคือ บริษัทมีตลาดรับซื้อลูกพันธุ์รองรับ ทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย และมี End User รายใหญ่อยู่ในมือ ซึ่งรวมถึงธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งของบริษัทเอง 
 
ยังไม่นับรวมแรงหนุนที่ถือเป็นต้นทุนความได้เปรียบของ CPF อาทิ ความจัดเจนในธุรกิจการเกษตรอุตสาหกรรมของบริษัทแม่ ความพร้อมในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ประสิทธิภาพของกำลังคน และที่สำคัญคือ CPF ยังได้เปรียบในแง่การมีบทเรียนจากธุรกิจไก่และหมูมาปรับใช้ 
 
พร้อมกับการเดินหน้ารุกสู่ธุรกิจอาหาร ด้วยการสร้างและพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก อันเป็นโจทย์ใหญ่ที่ CPF ทำมาในช่วงหลายปีมานี้ แต่ในอีกด้าน CPF ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการลงทุนเรื่องการพัฒนาพันธุ์ 
 
“สุดท้ายเราก็ต้องมุ่งมาสู่การพัฒนาพันธุ์ เพราะในเมื่อเราทำธุรกิจครบวงจรทั้งระบบ แต่ถ้า “ต้นทาง” สะดุด มันไม่มีทางที่ธุรกิจเราจะยั่งยืน ดังนั้นเรื่องพันธุ์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ ส่วนตัวผมเชื่อว่า ใครที่มีพันธุ์ดีจะกุมความสำเร็จแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง”
 
น.สพ. สุจินต์ ระบุว่า ทุกวันนี้ งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจกุ้งกว่า 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ใน 2 เรื่องคือการพัฒนาพันธุ์กับระบบการเลี้ยงแบบใหม่ โดยผู้บริหารแห่ง CPF ท่านนี้ เชื่อว่าการวิจัยใน 2 สิ่งนี้ จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาโรค EMS และการเพิ่มผลผลิตกุ้งได้อย่างยั่งยืน 
 
ด้วยแนวทางแก้ปัญหาโรค EMS ของ CPF น.สพ.สุจินต์ เชื่อว่า ในปีหน้าผลผลิตกุ้งของ CPF น่าจะกลับมาอยู่ที่ 5 หมื่นตัน โดยจะเริ่มเห็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ขณะที่ยอดขายลูกพันธุ์กุ้งและอาหารจะกลับมาดีขึ้นอย่างมากในปีหน้าเช่นกัน
 
“ในช่วงที่เกิดโรค เกษตรกรเขาหยุดและรอดู หลายคนดูฟาร์มกุ้งของ CPF เป็นโมเดลในการแก้ปัญหา คือถ้าเราทำแนวทางนี้แล้วกุ้งรอด ได้ผลผลิตดี เขาก็จะมั่นใจและกล้าที่จะกลับมาลงทุนใหม่” 
 
นั่นหมายความว่า CPF จะกลับมาขายพันธุ์ลูกกุ้ง ขายอาหารกุ้ง และขายเวชภัณฑ์การเลี้ยงกุ้ง ได้ดีเหมือนเก่า และที่สำคัญ เมื่อผลผลิตกุ้งในประเทศเยอะก็จะทำให้ CPF สามารถผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปกุ้งได้มากขึ้น 
 
สำหรับเงื่อนไขสำคัญของผลผลิตกุ้งที่ CPF จะรับซื้อ คือต้องเป็นผลผลิตที่เกิดจากพันธุ์ลูกกุ้ง เลี้ยงด้วยอาหารกุ้ง และเวชภัณฑ์กุ้ง ของ CPF โดยฟาร์มกุ้งนั้นต้องดำเนินการภายใต้แนวทางและการควบคุมตรวจสอบจากพนักงาน CPF คล้ายคลึงกับโมเดลในธุรกิจไก่และหมู
 
โดยปัจจุบัน นอกจาก CPF จะมีฟาร์มกุ้งประมาณ 130 ฟาร์มตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศ โดย 30 ฟาร์มเป็นฟาร์มของตัวเอง ส่วนที่เหลือเป็นฟาร์มเช่า บริษัทยังมีการลงทุนฟาร์มกุ้งในต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม โดยเวียดนามนับเป็นแหล่งฟาร์มกุ้งสำคัญของ CPF ในต่างประเทศ 
 
ทั้งนี้ แม่ทัพใหญ่แห่ง CPF ระบุว่า บริษัทถือเป็นเบอร์ 1 ของโลกในธุรกิจกุ้งครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้ง-ลูกกุ้ง-การเพาะเลี้ยง และการแปรรูปกุ้ง ซึ่งเมื่อรวมขนาดของทั้ง 4 ธุรกิจแล้ว ทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของขนาดธุรกิจ ขณะที่ขนาดของธุรกิจหมูของ CPF ยังถือเป็นเบอร์ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนธุรกิจไก่น่าจะยังอยู่อันดับที่ 5-6 ของโลก  
 
ไม่เพียงโมเดลความสำเร็จในการแก้ปัญหา EMS แต่โมเดลความสำเร็จในธุรกิจฟาร์มกุ้งในประเทศไทยของ CPF ย่อมจะถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ เหล่านั้น เฉกเช่นโมเดลของฟาร์มไก่และฟาร์มหมูที่ถูกใช้ในหลายประเทศ 
 
เฉกเช่นที่อดิเรกกล่าวเป็นนัยว่า ทิศทางของ CPF ในปี 2557 ว่า จะยังคงเน้นขยายการฐานลงทุนใน 12 ประเทศที่บริษัทได้ไปลงทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเน้นลงทุนเพื่อเติมเต็มช่องว่างในธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์ในประเทศนั้นๆ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับธุรกิจขั้นต้นและขั้นกลาง ก่อนที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำ เหมือนในเมืองไทย
 
ผู้บริหารสูงสุดของ CPF ทิ้งท้ายว่า ในปี 2557 ซึ่งเชื่อว่า ปัญหาโรค EMS ในกุ้งจะเริ่มคลี่คลาย เขาเชื่อว่า CPF จะสามารถกลับมาทำยอดขายได้ตามเป้า โดยเป้าแต่ละปีจะคืออัตราการเติบโตที่ 10-15% ของยอดขายปีก่อนหน้า 
 
เมื่อบวกกับงบการลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2557-2559 สำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศของ CPF เพื่อขับเคลื่อนให้ภาพการเป็น “ครัวโลก” และความเป็นผู้นำในธุรกิจการผลิตอาหารของโลกของ CPF แจ่มชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
 
Category: 

KFC ปรับโมเดลธุรกิจ เร่งสปีด “ไดร์ฟทรู”

$
0
0
 
แม้เจ้าตลาดเครือข่ายธุรกิจฟาสต์ฟู้ดอย่าง “เคเอฟซี” เพิ่งเริ่มต้นโมเดลการให้บริการรูปแบบ “ ไดร์ฟทรู (Drive Through)” ในประเทศไทย โดยเปิดตัวสาขาแรกบนถนนศรีนครินทร์เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ออกสตาร์ทช้ากว่าคู่แข่ง “แมคโดนัลด์” ที่ปูพรมสาขาไดร์ฟทรูมากกว่า 45 แห่ง และมีสาขาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง 81 แห่ง แต่การใช้จุดแข็งด้านทำเลและการใช้รูปแบบ “ไดร์ฟทรูสแตนด์อะโลน” หลังจากซุ่มศึกษาและหาที่ดินมากว่า 2 ปี กลายเป็นเกมรุกที่เปิดแนวรบท้าทาย “แมคโดนัลด์” อย่างร้อนแรง 
 
ด้านหนึ่ง ไม่ใช่แค่การดักจับลูกค้าตั้งแต่ต้นทางในย่านชุมชนเหมือนแนวรบสงครามค้าปลีก ที่เจาะทำเลผุดคอมมูนิตี้มอลล์และไลฟ์สไตล์ความรีบเร่งของผู้คนยุคใหม่ ปัญหาเรื่องที่จอดรถโดยพุ่งเป้าทำเลย่านหมู่บ้านขนาดใหญ่และเทรดโซนสำคัญจุดต่างๆ หนีคู่แข่งจำนวนมากมายในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สามารถขยายเวลาการขายตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีช่วง “พีค” ถึง 4 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า กลางวัน เย็น และหลังเที่ยงคืนที่ยังแยกย่อยได้อีก 2 ช่วงคือ ช่วงตี 1-2 จับกลุ่มลูกค้านักท่องราตรีเลิกจากผับ บาร์  และช่วงตี 5 ถึง 6 โมงเช้าที่มีทั้งกลุ่มคนทำงาน เด็กนักเรียนนักศึกษา และกลุ่มเลิกงานกะดึก ต่างจากระยะเวลาการขายในศูนย์หรือห้างที่มีเพียงช่วงพีคหลังเปิดห้างแค่ 2 ช่วง คือ เที่ยงและเย็นต่อเนื่องจนถึงค่ำ 
 
อีกด้านหนึ่งยังเป็นการลดต้นทุนก้อนใหญ่ โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่และค่าส่วนกลางต่างๆ ของศูนย์การค้าขนาดใหญ่และศูนย์การค้าในเขตเมืองใหม่ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงมาก 
 
ก่อนหน้านี้ เคเอฟซีเคยทดลองสาขาไดร์ฟทรูในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. บริเวณมอเตอร์เวย์ก่อนถึงแหลมฉบัง มอเตอร์เวย์ก่อนถึงหัวหิน และย่านราชพฤกษ์ แต่เป็นการใช้พื้นที่ปั๊มน้ำมัน ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และเวลา ขณะที่สาขาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงในซอยนานาปิดให้บริการไปแล้ว เนื่องจากกลุ่มลูกค้าไม่ตอบโจทย์กับรูปแบบสาขา และยอดขายไม่ประสบความสำเร็จ 
 
แต่สาขา “ไดร์ฟทรู” รูปแบบใหม่ที่เคเอฟซีตั้งเป้าให้เป็นโมเดลธุรกิจเร่งสปีดรายได้จะเป็นสาขาสแตนด์อะโลน พื้นที่ขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 400 ตร.ม. บางแห่งอาจมากถึง 600-1,000 ตร.ม. รองรับกลุ่มลูกค้าทานในร้านและกลุ่มไดร์ฟทรู สามารถโชว์โลโกแบรนด์เห็นเด่นชัด ซึ่งตอกย้ำความรู้สึกกับลูกค้าในฐานะเจ้าตลาด ที่สำคัญเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งตามแผนการขยายสาขาในปี 2557 จำนวน 50 แห่ง งบลงทุนรวม 2,200 ล้านบาท แบ่งเป็นงบขยายสาขา “ไดร์ฟทรูสแตนด์อะโลน” 10 สาขา สาขาละ 40 ล้านบาท 
 
แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนภายใต้แบรนด์ “เคเอฟซี” และ “พิซซ่าฮัท” กล่าวว่า  ไดร์ฟทรูสแตนด์อะโลนสาขาแรกที่ถนนศรีนครินทร์ เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน สามารถสร้างยอดขายสูงกว่าสาขาปกติถึง 30% จำนวนลูกค้าเฉลี่ย 800 รายต่อวัน ยอดจ่ายต่อบิลเฉลี่ย 170 บาท ซึ่งถือเป็นโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพมาก และบริษัทแม่วางทิศทางสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันรายได้และแก้เกมจุดอ่อนต่างๆ เนื่องจากสอดรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่ และเคเอฟซีในต่างประเทศมีสาขาไดร์ฟทรูมานานแล้ว บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา มีสาขาไดร์ฟทรูมากกว่าครึ่งหนึ่ง 
 
ล่าสุด บริษัทเตรียมเปิดไดร์ฟทรูสแตนด์อะโลนแห่งที่ 2 บริเวณแยกถนนนราธิวาสตัดกับพระราม 3 และกำลังเจรจากับผู้ประกอบการโครงการหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงการหาพื้นที่ในจังหวัดหัวเมืองรอง เพื่อขยายช่องทางสาขาไดรฟ์ทรูสแตนด์อะโลน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคและเปิดโอกาสการรุกตลาดเมนูอาหารเช้ามากขึ้นด้วย 
 
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจำนวนสาขาของธุรกิจฟาสต์ฟู้ด 4 ค่ายใหญ่ในกลุ่มธุรกิจอาหารจานด่วนหรือ “คิวเอสอาร์ฟู้ด (Quick Service Restuarant)” ที่มีมูลค่ามากกว่า 28,000 ล้านบาท โดยมีเซกเมนต์ไก่ทอดเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ประมาณ 50% ตามด้วยกลุ่มพิซซ่า 30% และกลุ่มเบอร์เกอร์ 20% ต้องถือว่าเคเอฟซีเป็นเบอร์ 1ในตลาด ล่าสุดมีส่วนแบ่ง 48% และประกาศจะเพิ่มส่วนแบ่งทะลุ 50%  ภายในปี 2557
 
ณ ปัจจุบัน เคเอฟซีมีสาขาทั่วประเทศรวม 500 แห่ง แต่มีสาขาไดร์ฟทรูและสาขาเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพียง 1 แห่ง ก็คือ สาขาไดร์ฟทรูสแตนด์อะโลน ศรีนครินทร์ 
 
ปี 2557 ยัมฯ ตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 50 สาขา แบ่งเป็นสาขาไดร์ฟทรู 10 สาขา และประกาศอีก 7 ปี หรือในปี 2563หรือ ค.ศ. 2020 มีสาขากระจายอยู่ในทุกชุมชนทั่วประเทศไทย 750 แห่ง 
 
สำหรับ “แมคโดนัลด์” ของบริษัท แมคไทย จำกัด ผู้ได้รับเอกสิทธิ์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ล่าสุดเปิดสาขารวม 186 แห่ง มีสาขาไดร์ฟทรู 45 แห่ง และสาขาที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง 81 แห่ง คาดว่าสิ้นปีนี้ขยายครบ 200 แห่ง และเปิดไดร์ฟทรูครบ 50 แห่ง 
 
“เบอร์เกอร์คิง” ของกลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป เปิดแล้ว 29 สาขา แบ่งเป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ 12 แห่ง ต่างจังหวัด 10 แห่ง และสาขาในสนามบิน 7 แห่ง โดยเป็นสาขาให้บริการ 24 ชั่วโมง 14 แห่ง ซึ่งตามแผนของไมเนอร์กรุ๊ป ตั้งเป้าขยายช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งระบบดีลิเวรีและการเปิดบริการแบบไดรฟ์ทรู
 
ส่วน “เอแอนด์ดับบลิว” หลังจากถูกยัม แบรนด์ส อิงค์ บริษัทแม่ของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ขายกิจการเมื่อปี 2554 และกลับมาทำตลาดใหม่ ล่าสุดมีสาขารวม 26 แห่ง ซึ่งบริษัท เอ แอนด์ ดับบลิว เรสเตอรองต์ (ประเทศไทย) ยังเดินหน้าขยายสาขาแต่เป็นการขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเจาะทุกภูมิภาค เน้นเมืองท่องเที่ยว จับกลุ่มชาวต่างชาติที่นิยมรสชาติแฮมเบอร์เกอร์สไตล์อเมริกันแท้ๆ และเครื่องดื่มรูทเบียร์โฟลต จุดขายตั้งแต่ยุคบุกเบิก รวมถึงเมนูอาหารของกลุ่มวัยรุ่นและเด็กๆ หรือ “Beary Meal”
 
ทั้งสี่แบรนด์วางฐานการตลาดในไทยในระยะเวลาไม่แตกต่างกัน ถือเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักอย่างดี โดยเคเอฟซีเปิดร้านสาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อปี 2527 โดยกลุ่มเซ็นทรัลซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จากบริษัทในสหรัฐอเมริกาเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ก่อนที่บริษัทแม่จะเข้ามาบุกตลาดเต็มตัวและปัจจุบันยังจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัลขยายฐานตลาดอย่างต่อเนื่อง 
 
“แมคโดนัลด์” เปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่ห้างโซโก้ (หรืออมรินทร์พลาซ่าในปัจจุบัน) เมื่อปี 2528 โดยนายเดช บุลสุข ซึ่งประทับใจในอาหารของแมคโดนัลด์สมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งขายสิทธิ์ มีนายวิชา พูลวรลักษณ์ และหุ้นส่วนเข้ามาเป็นผู้ได้รับมอบเอกสิทธิ์ในการครอบครองแฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ในประเทศไทย (Master Franchise) ผ่านบริษัท แมคไทย จำกัด
 
สำหรับ “เบอร์เกอร์คิง” มีไมเนอร์กรุ๊ปซื้อแบรนด์จากบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ทำตลาดในไทยมานานกว่า 18 ปี ขณะที่ “เอแอนด์ดับบลิว” เข้ามาเปิดร้านแรกที่ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อปี 2526 
 
ระยะเวลามากกว่า 20 ปี ของทั้งสี่แบรนด์ ถือว่าเคเอฟซีและแมคโดนัลด์ใช้เกมการตลาดแนวรุกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายสาขาและการสร้างสรรค์เมนูแบบ “ไทยๆ” ต่างจากอีก 2 แบรนด์ ยังคงเน้นจุดขายเดิมเรื่องรสชาติสไตล์อเมริกัน และทั้งสองแบรนด์กำลังขยายแนวรบใหม่ในสงครามไดร์ฟทรู ซึ่งแมคโดนัลด์เป็นฟาสต์ฟู้ดที่ยึดครองช่องทางการจำหน่ายนี้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในปั๊มน้ำมันและคอมมูนิตี้มอลล์ สร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่า 30% และมีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง 
 
แววคนีย์กล่าวว่า บริษัทปรับโมเดลธุรกิจ โดยวางกลยุทธ์หลักในปีหน้า คือการขยายสาขานั่งทานในห้าง การขยายสาขาไดร์ฟทรูสแตนด์อะโลน การขยายสาขาในเมืองรองที่เรียกว่า “เทียร์ทู” เช่น สาขาในปากช่อง จ. นครราชสีมา ท่ายาง  จ.ลพบุรี และการทำตลาดเมนูอาหารเช้าเพิ่มขึ้น ซึ่งยังไม่ได้รุกตลาดอย่างเต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาเปิดให้บริการส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้า รวมถึงเมนูอาหารและแคมเปญใหม่ๆ รับมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 12 มิ.ย.-13 ก.ค. 2557 
 
แน่นอนว่า หากพูดถึงการทำตลาดเมนูอาหารเช้าเป็นกลยุทธ์หนึ่งของแมคโดนัลด์ และถือเป็นช่วง “พีค” หนึ่งที่สามารถทำรายได้ในสัดส่วน 15% เทียบกับมื้อเที่ยงและมื้อเย็นอยู่ที่ 20% แต่เปรียบเทียบยอดขายเติบโตอย่างรวดเร็วหลายเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น จากช่วงเช้าปกติที่ยังไม่มีเมนูเฉพาะกว่า 200% กระตุ้นจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 100% และมียอดบิลเฉลี่ย 100 บาทต่อบิล ใกล้เคียงช่วงพีคของมื้อเที่ยง 
 
เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะอยู่ในสมรภูมิธุรกิจร้านอาหารที่มีกลุ่มอาหารประเภทไก่และเบอร์เกอร์เป็นสัดส่วนมากสุด มากกว่า 20,000 ล้านบาท หรือจะเป็นการแข่งขันในตลาดฟาสต์ฟู้ดที่มีกลุ่มไก่ทอดเป็นตัวทำรายได้สูงสุดมากกว่า 15,000 ล้านบาท 
 
สงครามไดร์ฟทรูที่เคเอฟซีประกาศว่า ต้องการหนีคู่แข่งเพื่อแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่แก้เกมยอดรายได้ต่ำกว่าเป้า แท้ที่จริงเป็นแผนสกัดดาวรุ่งและท้าชน “แมคโดนัลด์” อย่างเต็มตัวนั่นเอง 
 
 
 
Category: 

ฤ “สิงห์” จะลำบาก บนวิบากกรรมของการเปลี่ยนแปลง

$
0
0
 
ในสถานการณ์สู้รบที่กำลังใกล้จะเห็นดำเห็นแดงของมวลมหาประชาชน ในนาม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ดูเหมือนว่าเรื่องราวของ “สิงห์” จะกลายเป็นประเด็นร้อนและทอล์คออฟเดอะทาวน์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
เหตุเพราะบทสัมภาษณ์ที่ปรากฏในสื่อสารมวลชนต่างประเทศ ที่ระบุว่า “คนไทยหลายคนยังขาดความรู้เรื่องประชาธิปไตย...โดยเฉพาะคนชนบท” ของ จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ จิตภัสร์ กฤดากร ในปัจจุบัน ได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างกว้างขวางและอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” ไม่น้อย
 
แรงสะท้อนกลับที่พุ่งเข้าใส่ จิตภัสร์ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจากฐานมวลชนของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. เท่านั้น หากแต่ยังมีผลต่อเนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ภายในครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” ที่ต้องรีบออกมาสกัดความเสียหายทางธุรกิจอย่างร้อนรนอีกด้วย
 
สันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด บริษัทแม่ของ สิงห์คอร์เปอเรชั่น ถึงกับต้องออกสื่อว่าได้พูดคุยกับจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี บิดาของจิตภัสร์ เกี่ยวกับท่าทีทางการเมือง และยืนยันว่าคำสัมภาษณ์ของจิตภัสร์ เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “สิงห์” แต่อย่างใด
 
หากประเมินในเชิงธุรกิจ ต้องยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวคงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของสิงห์ ทั้งทางบวกและทางลบในขณะปัจจุบันมากนัก แต่ในมุมมองของนักการตลาดที่ต้องการรักษาภาพลักษณ์องค์กร กรณีที่ว่านี้ ย่อมไม่ใช่ประเด็นประชาสัมพันธ์ที่ดีสำหรับองค์กรธุรกิจอย่างแน่นอน
 
“บุญรอดฯ” และ “สิงห์” เป็นชื่อที่บรรดานักดื่มเบียร์ในเมืองไทยรู้จักคุ้นเคยดี ในฐานะผู้ผลิตเบียร์ โซดาและน้ำดื่ม ยี่ห้อ “สิงห์” ที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ และครองความนิยมมานานกว่า 80 ปี แม้ว่าในระยะหลัง ๆ จะรับรู้ว่าบุญรอด หรือ สิงห์ ไม่ได้ผลิตเบียร์ โซดา น้ำดื่ม จำหน่ายเท่านั้น หากยังผลิตเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำหน่ายสร้างรายได้ด้วยก็ตาม
 
บุญรอด บริวเวอรี่ เป็นธุรกิจของคนในตระกูล "ภิรมย์ภักดี"มาตั้งแต่แรกเริ่มในปี 2476 และลงหลักปักฐานทำโรงเบียร์ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้นก้อนเดียวเพียง 600,000 บาทในขณะนั้น มาสู่การเป็นบริษัทที่มียอดขายเบียร์นับหมื่นหรือแสนล้านบาทในปัจจุบัน
 
การเป็นผู้นำตลาดเบียร์และโซดามาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 80-90 % ทำให้บริษัทบุญรอดมีความมั่งคั่งในโครงสร้างของเงินทุนอย่างมาก จนไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องกู้หนี้ยืมสินจากสถาบันการเงินใดๆ “เพราะธุรกิจการค้ากับบุญรอดฯ เป็นเงินสดตลอด” เอเย่นต์เบียร์รายหนึ่งเคยเล่าบริบทในอดีตให้ ผู้จัดการ ฟัง
 
แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สภาพตลาดเบียร์ในประเทศไทยได้คลี่คลายไป เมื่อมีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่หน้าใหม่รุกเข้ามาในพื้นที่ของ “สิงห์” ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งมีสรรพกำลังในการรุกไล่และช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดที่น่าเกรงขาม หรือความท้าทายจากผู้ประกอบการราย อื่นๆ ที่นำพาแบรนด์เบียร์จากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในตลาดไทย
 
เบียร์ช้าง ผู้มาใหม่ได้ไม่นานสามารถสร้างประวัติการณ์ ผลักให้เบียร์สิงห์ ซึ่งครองส่วนแบ่งมากถึง 80-90% หล่นจากการเป็นเจ้าตลาด เหลือส่วนแบ่งเพียง 30-40% ในปี 2547 ขณะที่เบียร์ช้างมีส่วนแบ่งมากถึง 50-60% ทำให้ภาพลักษณ์ของการผูกขาดตลาดนั้นหมดไป และทำให้ บุญรอดฯ ต้องปรับกระบวนทัพใหม่
 
“ผมยอมรับว่าแพ้ แต่ผมไม่ยอมแพ้เพราะผมคือสิงห์ เคยมีคนมาขอซื้อบริษัทบุญรอดแต่ผมไม่ขาย” เป็นบทสัมภาษณ์จากปากของสันติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ ผ่านผู้สื่อข่าวเมื่อย้อนอดีตในช่วงวิกฤต
 
ก่อนหน้าที่จะขึ้นมาเป็นผู้กุมชะตาของ “สิงห์” สันติ ภิรมย์ภักดี มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการตลาด แบ่งงานกับพี่ชายของเขา ปิยะ ภิรมย์ภักดี ที่ดูแลด้านการผลิต เป็นภาระรับผิดชอบด้านการตลาดในช่วงที่โครงสร้างของธุรกิจ กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลกำลังมีนโยบายเปิดให้มีการแข่งขันของธุรกิจเบียร์ได้อย่างเสรี
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้สันติต้องคิดหนัก เพราะเบียร์สิงห์เป็นเบียร์ที่ผูกขาด ตลาดภายในประเทศมาเป็นระยะเวลานาน การปรากฏมีคู่แข่งขันเกิดขึ้นในตลาด จึงเป็นความท้าทายที่แหลมคม และต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่
 
สันติ ภิรมย์ภักดี ได้รับมอบหมายจากสมาชิกใน “ภิรมย์ภักดี” ให้เข้ามากุมบังเหียน บุญรอด บริวเวอรี่ ในช่วงปี 2542 โดยเขาต้องระดมสรรพกำลังและทุนสำหรับการโฆษณาที่มากขึ้น โปรโมตสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ของสิงห์ผ่านธุรกิจในเครือ รวมไปถึงการ re-positioning เบียร์สิงห์และผลัก “เบียร์ลีโอ” เข้าสู่ตลาดเพื่อใช้เป็นอาวุธในการต่อกรกับคู่แข่งที่กำลังมาแรง
 
กลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าตั้งแต่ระดับกลางจนไปจนถึงระดับล่าง ตอบรับ “เบียร์ลีโอ” อย่างล้นหลาม ด้วยรสชาติที่ถูกปากและจริตของคนไทย ควบคู่กับสนนราคาที่เป็นมิตร ทำให้ยอดขายของเบียร์ลีโอพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์ของบริษัทบุญรอดกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง “สิงห์” ที่เคยบาดเจ็บเริ่มหายป่วยและกำลังเตรียมความพร้อมที่จะร้องคำรามอีกครั้ง
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ นอกเหนือจากสิงห์ ลีโอ และไทเบียร์แล้ว โรงงานขอนแก่น บริวเวอรี่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นกำลังหลักสำหรับการผลิตเบียร์ลีโอแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังเคยถูกใช้เป็นฐานในการผลิต “อีสานเบียร์” เบียร์ราคาประหยัดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าผู้ดื่มระดับรากหญ้าหรือระดับล่างเป็นหลัก และเป็นการสกัดการเติบโตของ “เบียร์อาชา” ของเครือไทยเบฟเวอเรจ ไม่ให้ครองตลาดได้โดยง่ายอีกด้วย
 
แม้ว่าการปรากฏตัวของ อีสานเบียร์ ในฐานะที่เป็น geographical branding ที่ไม่สามารถสร้างความตื่นตัวต่อเนื่องในระยะยาวให้กับสิงห์ แต่ “อีสานเบียร์” ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับท่วงทำนองทางการตลาดและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของสิงห์ได้อย่างชัดเจน
 
กระนั้นก็ดี แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มเบียร์จะมีมูลค่าสูงนับเป็นแสนล้านบาทต่อปี แต่นั่นก็ไม่ใช่ธุรกิจเดียวที่ สิงห์ พยายามรักษาและขยายกิจกรรมทางธุรกิจ เพราะจากแนวโน้มที่ตลาดเบียร์มีการแข่งขันสูงและอาจขยายตัวด้วยอัตราเร่งอันจำกัด หรือแม้กระทั่งเติบโตแบบติดลบในบางช่วงปี ทำให้สิงห์ต้องมองหาธุรกิจในกลุ่ม non-alcohol เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของรายได้อย่างต่อเนื่อง
 
หากประเมินจากมิติทางธุรกิจโดยลำพัง ห้วงเวลาปัจจุบันซึ่งถือเป็นยุคเชื่อมต่อของทายาทรุ่นที่ 3 และ 4 ของ “ภิรมย์ภักดี” นับเป็นยุคที่ต้องเรียกว่ามีสีสัน และเรื่องราวที่น่าสนใจมากที่สุดของตำนาน “ภิรมย์ภักดี” ซึ่งผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในกลุ่มทายาทรุ่นเหลนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงสังคม และธุรกิจ ก็คงเป็นสองหนุ่มพี่น้อง “สันต์” และ “ปิติ” บุตรชายของ “สันติ” ที่เข้ามารับช่วงต่องานสำคัญในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังคลี่คลายประมาณปี 2545 และเป็นช่วงที่องค์กรของสิงห์กำลังเข้าสู่ช่วงของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจด้วย
 
ขณะเดียวกัน ยังนับเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวใกล้เคียงกับกรณีที่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” กำลังส่งไม้ต่อให้กับ “ฐาปน” ก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในอีกฟากฝั่งของอาณาจักรเครื่องดื่มไทยในนาม “ไทยเบฟเวอเรจ” ซึ่งย่อมต้องเป็นคู่ต่อกรที่ผูกปีไล่เบียดช่วงชิงตลาดและกลุ่มเป้าหมายเดียวกันไปอีกนาน
 
การขับเคี่ยวของ 2 อาณาจักรน้ำสีอำพันและธุรกิจเกี่ยวเนื่องของ “ภิรมย์ภักดี” และ “สิริวัฒนภักดี” ที่ปรากฏชัดและดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี ดูจะไม่มีฝ่ายใดยอมอ่อนข้อให้แก่กันและกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะสัประยุทธ์แข่งขันหนักหน่วงกว่าที่เคยมีมาในอดีตเสียด้วยซ้ำ
 
โดยสังเวียนการแข่งขันครั้งใหม่ที่เริ่มขึ้น ทั้งสองอาณาจักรน้ำสีอำพัน ต่างมองข้ามโพ้นไปจากตลาดในประเทศสู่การวางกลยุทธการตลาดระดับโลก เริ่มจากในภูมิภาค “อาเซียน” ที่โอกาสทางการตลาดพร้อมจะสร้างการเติบโตอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจ โดยทั้งไทยเบฟเวอเรจและสิงห์ต่างเดินเกมรุกในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน แบบไม่มีใครยอมสูญเสียความได้เปรียบให้กับใคร
 
ไทยเบฟเวอเรจเปิดดีลพลิกประวัติศาสตร์ มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท เป็นดีลเทกโอเวอร์ที่ถูกระบุว่า “ใหญ่ที่สุดในเอซีย” หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2550 ด้วยการ “ฮุบ” Fraser and Neave (F&N) ยักษ์เครื่องดื่มอันดับต้นๆ ในอาเซียน และเป็นเจ้าของพอร์ตธุรกิจที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ (นอนแอลกอฮอล์) ใน3 สาขาธุรกิจ ทั้งธุรกิจ อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจสิ่งพิมพ์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจระดับอินเตอร์ด้วย
 
แต่ที่ร้ายลึกไปกว่านั้นก็คือ ไทยเบฟเวอเรจ ยังหวังที่จะผนวกแบรนด์ “ไทเกอร์เบียร์” เบียร์สิงคโปร์ ที่ใหญ่เป็นอันดับ3 ของอาเซียน ผ่านAsia Pacific Breweries (APB) ซึ่งเป็นเจ้าของพอร์ตเบียร์ไทเกอร์ และมีสถานะเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง Fraser and Neaveและ Heineken International ก่อนที่แผนการขยายธุรกิจเบียร์อย่างก้าวกระโดดในมหากาพย์ของการครอบงำกิจการนี้จะสะดุดและพลาดไปในที่สุด เพราะถูกผู้ถือหุ้นอย่างไฮเนเก้น เบียร์อันดับ 3 ของโลก สัญชาติฮอลแลนด์ สกัดเสียก่อน และไทยเบฟเวอเรจต้องยอมให้ไฮเนเก้นรวบธุรกิจใน APBเพื่อแลกกับการสงบศึกในดีลเอฟแอนด์เอ็น
 
ส่วนด้าน “สิงห์” ก็เปิดดีลระดับโลกกับ “คาร์ลสเบอร์ก” เบียร์อันดับ 4 ของโลกจากเดนมาร์ก แบรนด์ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ทางธุรกิจในอดีต เพราะคาร์ลสเบอร์กเคยร่วมกับไทยเบฟเวอเรจเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว แต่ปัจจุบันเบียร์ดังแบรนด์เดียวกันนี้ กำลังกลายมาเป็น “พาร์ตเนอร์ยักษ์” ที่จะพา “สิงห์” บุกตลาดเบียร์โลก ผ่านเครือข่ายกระจายสินค้าและจัดจำหน่ายระหว่างประเทศกว่า 150 ประเทศทั่วโลกของคาร์ลสเบอร์ก
 
แม้ว่าทั้งสองฝ่ายดูจะยังไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างเป็นชิ้นเป็นอันมากนักในการรุกคืบไปต่างประเทศจาก ดีลข้างต้น และตลาดภายในประเทศดูจะมีสัดส่วนทางธุรกิจอยู่ในอันดับที่สูงมากของทั้งสองฝ่าย ทำให้ก้าวย่างในสมรภูมิเพื่อช่วงชิงความนิยมในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองจึงอาจเป็นปัจจัยบ่งชี้ ความสำเร็จในรอบปีกันเลยทีเดียว
 
นี่จึงอาจเป็นเหตุให้สันติ ภิรมย์ภักดี ต้องเลือกระหว่างการรักษาฐานลูกค้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการหนุนนำธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน กับการป้องปรามด้วยการสื่อสารผ่าน “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ไปยัง “จิตภัสร์ กฤดากร” ซึ่งกลายเป็นการขยายประเด็นของ “ภิรมย์ภักดี” ในเวลาต่อมา
 
จดหมายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรลงลายมือชื่อ สันติ ภิรมย์ภักดี ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่มีถึงจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ใจความว่า
 
“จากการที่ได้พูดคุยกันหลายครั้งและได้เสนอข้อแนะนำต่างๆ ให้กับจุตินันท์ เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของจิตภัสร์ ที่จะส่งผลต่อองค์กรและตระกูลภิรมย์ภักดี ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ กระทั่งองค์กรและตระกูลถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ไม่ว่าผลจากสถานการณ์การเมืองครั้งนี้จะออกมาอย่างไร และส่งผลกระทบต่อองค์กรและตระกูลมากน้อยแค่ไหน ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น และขอชี้แจงถึงจุตินันท์ด้วยหนังสือฉบับนี้ ให้รับทราบว่าที่ผ่านมาได้เคยเตือนและให้คำแนะนำกับจุตินันท์แล้ว” ได้ถูกเผยแพร่ต่อออกไปในวงกว้าง และทำให้เรื่องราวภายใน “ภิรมย์ภักดี” อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์แห่งความสนใจของสาธารณชน
 
ผู้สังเกตการณ์ที่คว่ำหวอดกับ “ภิรมย์ภักดี” ให้ทัศนะว่า ท่าทีของสันติ ภิรมย์ภักดี ส่วนหนึ่งนอกจากจะเป็นการยับยั้งความเสียหายในเบื้องต้นแล้ว ในอีกด้านหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากหลักของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ซึ่งเป็นต้นตระกูล ที่ระบุว่า “ไม่อยากให้ลูกหลานภิรมย์ภักดีเข้าไปมีส่วนข้องเกี่ยวกับการเมือง เพราะการทำธุรกิจและการเมืองมีความละเอียดอ่อนต่อกันเกินไป” 
 
และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ต้องแสดงบทบาทของทั้งในฐานะบิดา และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ สิงห์คอร์เปอเรชั่น ที่ระบุว่า “จิตภัสร์” บุตรสาวคนโต พร้อมที่จะเปลี่ยนจากการใช้ “ภิรมย์ภักดี” เป็นนามสกุลของเธอ ไปสู่การใช้ “กฤดากร” นามสกุลเดิมของ หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นมารดา เป็นนามสกุลของเธอนับจากนี้แทน
 
"ผู้จัดการ"เคยเขียนบทสังเคราะห์ไว้ชิ้นหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วว่า จังหวะก้าวของบุญรอด บริวเวอรี่ และสิงห์ ในรุ่นที่ 3 ของ “ภิรมย์ภักดี” นับว่าเป็นรุ่นที่โชคดีกว่ารุ่นพ่อ และรุ่นปู่มาก เพราะเป็นรุ่นที่รับช่วงความมั่งคั่งที่รุ่นก่อนๆ ได้สร้างเอาไว้อย่างแน่นหนาแล้ว
 
แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านจาก “ภิรมย์ภักดี” รุ่นที่ 3 ไปสู่รุ่นที่ 4 กำลังกลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่ง และเป็นช่วงเวลาที่ภิรมย์ภักดี คงต้องทำงานหนักมากกว่าอดีต เพราะนอกจากจะเป็นรุ่นที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรง ซึ่งทั้งในรุ่นพ่อ และรุ่นปู่ของพวกเขาไม่เคยประสบมาก่อนแล้ว
 
บางทีอาจยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการสื่อสารทั้งกับสาธารณชน ซึ่งมีสถานะเป็นผู้บริโภคและลูกค้าที่ค้ำยันการเติบโตขององค์กรแล้ว ยังอาจต้องใช้เวลาและสรรพกำลังในการสื่อสารกับสมาชิกภายใน “ภิรมย์ภักดี” ด้วยกันอีกด้วย
 
Category: 

เปิดสาแหรกจาก “บุญรอด เศรษฐบุตร” ถึง “ภิรมย์ภักดี” ในปัจจุบัน

$
0
0
 
ต้นกำเนิดของ “บุญรอด บริวเวอรี่” และ “สิงห์” กลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข้อความในโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ “กฤดากร” ในปัจจุบัน ควบคู่กับความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจทั้งสำหรับคนในตระกูลภิรมย์ภักดี และผู้สังเกตการณ์ข้างเวทีอีกจำนวนไม่น้อย
 
หากย้อนกลับไป ตำนานกว่า 80 ปี ของ บุญรอด บริวเวอรี่ เริ่มขึ้นเมื่อ พระยาภิรมย์ภักดี หรือ บุญรอด เศรษฐบุตร บุตรของพระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับนางมา เศรษฐบุตร ก่อตั้งบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ขึ้นในปีพุทธศักราช 2476 เป็นโรงเบียร์แห่งแรกในประเทศไทย บนเนื้อที่ 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือสามเสน ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 6 แสนบาท และเป็นผู้ให้กำเนิดเบียร์สิงห์ 
 
พระยาภิรมย์ภักดีมีภรรยาคนแรกชื่อคุณหญิงละม้ายมีบุตรฝาแฝดคู่หนึ่งและบุตรอีกคนหนึ่งแต่บุตรทั้ง 3 ได้เสียชีวิตลงทั้งหมดตั้งแต่ยังเยาว์
 
เมื่อไม่มีบุตร พระยาภิรมย์ภักดีจึงได้รับบุตรของพระประเวศนวขันธ์ (ปลื้ม เศรษฐบุตร) ซึ่งเป็นน้องชาย มาเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ วิทย์ ภิรมย์ภักดี ต่อมาพระยาภิรมย์ภักดีมีบุตรกับนางกิม ภรรยาอีกท่านหนึ่ง ตั้งชื่อบุตรคนโตนี้ว่า ประจวบ ภิรมย์ภักดี (2 มกราคม พ.ศ. 2455) และมีบุตรกับภรรยาที่ชื่อจิ้มลิ้มอีกคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ประจง ภิรมย์ภักดี (29 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2471) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ในปัจจุบัน
 
ภายหลังจากที่พระยาภิรมย์ภักดี เสียชีวิตลงจึงเป็นช่วงเวลาของภิรมย์ภักดี รุ่นที่ 2 โดย ประจวบ ภิรมย์ภักดี ซึ่งจบการศึกษาทางด้านผลิตเบียร์มาจากประเทศเยอรมนี และได้ชื่อว่าเป็นบริวมาสเตอร์คนแรกของเมืองไทย ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท มีวิทย์ ภิรมย์ภักดี เป็นรองประธานรับผิดชอบด้านการตลาด และจำนงค์ ภิรมย์ภักดี เป็นกรรมการบริษัทฯ รับผิดชอบด้านบัญชี
 
“ประจวบ ภิรมย์ภักดี” เป็นทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจของบิดาในฐานะบุตรชายคนโต ทำให้เขามีบทบาททางธุรกิจมากกว่าผู้เป็นน้องอย่าง “วิทย์” และ “จำนงค์” ซึ่งรุ่นนี้ต้องถือว่าเป็นยุคแห่งความมั่นคง และรุ่งเรืองยุคหนึ่งของ “บุญรอด บริวเวอรี่”
 
“สิงห์” และ “บุญรอด บริวเวอรี่” เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมาสู่รุ่นที่ 3 ในยุคของ “ปิยะ ภิรมย์ภักดี” และ “สันติ ภิรมย์ภักดี” บุตรชาย 2 ในจำนวนบุตร 5 คนของ “ประจวบ” ซึ่งยุคนี้เป็นยุคที่ใคร ๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่า จะเป็นยุคทองของคน “ภิรมย์ภักดี” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่าเป็นยุคที่ถือว่าสาหัสสุดสุด ของลูกหลานสิงห์รุ่นที่ 3 เพราะด้วยภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดเบียร์เมืองไทย และการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้บุญรอดต้องกู้ศักดิ์ศรี และรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเบียร์เอาไว้ต่อไปให้ได้
 
เมื่อประจวบ ภิรมย์ภักดี ยุติบทบาทลงในปี 2536 ทายาทรุ่นที่ 3 คือ ปิยะ ภิรมย์ภักดี บุตรชายคนโตของประจวบ ซึ่งจบการศึกษาทางด้านการผลิตเบียร์จากสถาบันเดียวกันกับบิดา และได้ชื่อว่าเป็นบริวมาสเตอร์ คนที่ 2 ของเมืองไทยก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทฯ ดูแลรับผิดชอบด้านการผลิต ส่วนสันติ ภิรมย์ภักดี น้องชายดูแลด้านการตลาดการขายและโฆษณา ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดขายและโฆษณา
 
ทั้ง “ปิยะ” และ “สันติ” ต้องทำงานหนักมากกว่ายุคบุกเบิกในรุ่นปู่ หรือในช่วงของการขยายอาณาจักรในช่วงที่บิดาของเขาเป็นผู้ดูแลกิจการ เมื่อ “ปิยะ” ซึ่งปัจจุบันยังมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท ขอถอนตัวออกไปลุยกับธุรกิจส่วนตัวด้วยการเป็นผู้ผลิตไวน์ในชื่อ ของ เขาใหญ่ ไวน์เนอรี่ จึงเป็นยุคของ “สันติ” ใน “ภิรมย์ภักดี” รุ่น 3/2 บริหารต่อมา
 
สันติ ภิรมย์ภักดี เกิดวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2489 จากที่ได้ทำร่วมงานอยู่ร่วมกับวิทย์และปิยะ โดยดูแลงานด้านเอเย่นต์มาก่อนหน้แล้ว สันติ ภิรมย์ภักดี ได้สร้างแผนกการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ขึ้นใหม่ รวมถึงการร่วมกับฝ่ายโรงงานสร้างโรงเบียร์ที่จังหวัดนครปฐม
 
สันติ ภิรมย์ภักดี สมรสกับอรุณี และมีบุตรทั้งสิ้น 3 คน ประกอบด้วยสันต์ ภิรมย์ภักดี, ปิติ ภิรมย์ภักดี และบุตรสาวคนเล็ก ปรีดิ์รติ ภิรมย์ภักดี
 
ด้านฝั่งฟากของวิทย์ ภิรมย์ภักดี มีบุตรชาย 2 คน คือ วุฒา ภิรมย์ภักดี รับผิดชอบดูแลด้านโรงงานและเครื่องจักร กับวาปี ภิรมย์ภักดี รับผิดชอบดูแลเรื่องการขายต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้งวุฒา และวาปี มีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัททั้งคู่
 
วุฒา ภิรมย์ภักดี จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย HTL BONHE เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อมาดูแลเครื่องจักรของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และสร้างโรงเบียร์อยู่ที่จังหวัด ขอนแก่น ร่วมกับ ปิยะ ภิรมย์ภักดี 
 
วุฒา ภิรมย์ภักดี สมรสกับคุณหญิงอรนุช ภิรมย์ภักดี (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีบุตรทั้งสิ้น 4 คนประกอบด้วย วุฒินันท์ ภิรมย์ภักดี, วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี, บุตรสาวชื่อ ณัฐวรรณ ภิรมย์ภักดี (ณัฐวรรณ ทีปสุวรรณ) และบุตรชายคนเล็กธนะวุฒิ ภิรมย์ภักดี
 
สำหรับวาปี ภิรมย์ภักดี สมรสกับ ท่านผู้หญิงเหมือนจิต ประวิตร (ท่านผู้หญิงเหมือนจิต ภิรมย์ภักดี) มีบุตรชื่อ พลิศร์ ภิรมย์ภักดี, สรวิช ภิรมย์ภักดี บุตรสาวชื่อ ปิย์จิต ภิรมย์ภักดี (โอสถานนท์) และบุตรชายคนเล็ก ปวิณ ภิรมย์ภักดี
 
โดยวิทย์ ภิรมย์ภักดี มีบุตรสาวคนสำคัญคือท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ อดีตนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ได้ชื่อว่าซื่อสัตย์จง รักภักดี และรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความไว้วางพระราชหฤทัยจนตลอดชีวิต
 
ที่น่าสนใจมากก็คือ โรจน์ฤทธิ์ เทพาคำ ซึ่งเป็นหลานชายรุ่นเหลนของพระยาภิรมย์ภักดี สมรสกับหม่อมราชวงศ์ (หญิง) อรอนงค์ ดิศกุล ธิดาของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โดยปัจจุบันโรจน์ฤทธิ์ เทพาคำ มีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเป็นเพียงหนึ่งเดียวในคณะกรรมการบริหารบริษัท ที่ไม่ได้มีนามสกุล “ภิรมย์ภักดี” แต่ย่อมไม่ใช่คนนอกของตระกูลแต่อย่างใด
 
สำหรับ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท สมรสกับคุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี และบุตรสาว คือ จีรานุช ภิรมย์ภักดี โดยปัจจุบัน จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี มีตำแหน่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบดูแลด้านบัญชี
 
จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เกิดวันที่ 9เมษายน พ.ศ. 2500 สมรสกับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี (กฤดากร) ซึ่งรับบทเป็น “พระศรีสุริโยทัย” ในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มีบุตร3คน ประกอบด้วยบุตรสาวคนโต จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี, บุตรสาวคนที่ 2 นันทญา ภิรมย์ภักดี และบุตรชายคนเล็ก ชื่อ ณัยณพ ภิรมย์ภักดี
 
เมื่อสันติ ภิรมย์ภักดี ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) หลังการถ่ายโอนอำนาจจากปิยะ และได้รับมอบหมายจากครอบครัวให้นำพา บุญรอดฯ ฝ่าวิกฤต ก็มีญาติผู้น้องที่ชื่อ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” บุตรชายของ “จำนงค์” ถูกดึงเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ มาช่วยดูแลงาน โดยมีภารกิจหลักอยู่ที่เรื่องของการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ และผลักดันแบรนด์ “สิงห์” ให้ก้าวขึ้นสู่ Global Brand ได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย
 
ปัจจุบัน ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ 4 ซึ่งประกอบด้วย สองหนุ่มพี่น้อง “สันต์” และ “ปิติ” บุตรชายของ “สันติ” เข้ามารับช่วงต่องานสำคัญ ตั้งแต่ในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังคลี่คลายประมาณปี 2545 เป็นช่วงที่องค์กรของสิงห์กำลังเข้าสู่ช่วงของการปรับเปลี่ยนโครงการทางธุรกิจ
 
สันต์ ภิรมย์ภักดี ทายาทคนโตของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Non-Alcohol และผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Business Innovation Centerที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง BIC ขึ้นมา เป็นหน่วยงานใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในบุญรอด มีหน้าที่หลักกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
 
“สันต์” ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของ “บุญรอด” เพื่อให้รู้เท่าทันถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาในอนาคต และเขาเป็นทายาทคนที่ 3 ต่อจาก “ประจวบ” และ “ปิยะ” ที่มีโอกาสไปร่ำเรียนวิชาปรุงเบียร์ หรือMaster in Brewery Management กันถึง World Brewing Academy ประเทศเยอรมนี เพราะเขาชอบเบียร์จึงใฝ่รู้ในเรื่องของเบียร์ แม้ว่างานหลักที่ต้องดูแลในวันนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเบียร์เลยก็ตาม
 
ส่วนปิติ ภิรมย์ภักดี เป็นหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำพา “สิงห์” ไปในอนาคต หลังจากที่ผู้เป็นบิดาอย่าง “สันติ” เคยเอ่ยปากทีเล่นทีจริงว่าอยากให้ชายหนุ่มผู้นี้ มาเป็น Ambassador คนต่อไปให้กับ “สิงห์” และมีตำแหน่งเป็นกรรมการ ดูแลงานด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับผลิตภัณฑ์ในเครือบุญรอดฯ และมีทีท่าว่าจะไปได้สวยกับหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของบุญรอด เทรดดิ้ง
 
ในจำนวนวงศ์วานว่านเครือของรุ่นที่ 4 “พลิศร์ ภิรมย์ภักดี” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทายาท “ภิรมย์ภักดี” ที่มีบทบาทสำคัญกับงานบริหารในระดับแถวหน้ากับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่ง “พลิศร์” เป็น “ภิรมย์ภักดี” รุ่นหลานในสายของ“วิทย์”
 
ปัจจุบันพลิศร์รับผิดชอบเรื่องการบรรลุเป้าหมายการขาย พัฒนาระบบจัดจำหน่าย และระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการสนับสนุนการขายให้กับเหล่าตัวแทนจำหน่ายในแต่ละระดับ เขามองว่าหัวใจหลักของธุรกิจเครื่องดื่ม ก็คือ ระบบการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ
 
การเติบโตของกลุ่มบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) ในห้วงเวลานี้ ซึ่งมีโรงงาน 7 โรงตั้งอยู่ทั่วประเทศมีกำลังผลิตเบียร์ โซดา และน้ำดื่มจำนวนรวมหาศาลหลายล้านลิตร มีบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัทโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มบริษัทใหญ่ คือ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มร้านอาหาร มีหน้าสัมผัสกับสาธารณชนอย่างกว้างขวางย่อมไม่สามารถปฏิเสธผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะโดยเชิงบวกหรือเชิงลบ
 
แต่การเปลี่ยนนามสกุลของ จิตภัสร์ กฤดากร จะช่วยลดทอนผลกระทบที่ว่านี้หรือเพิ่มแรงกระเพื่อมต่อ “ภิรมย์ภักดี” อย่างไรหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องติดตาม
 
Category: 

2014 ปีแห่งการรุกรบสมรภูมิค้าปลีกไทย

$
0
0
 
นอกเหนือจากการห้ำหั่นกันในสมรภูมิการเมืองไทย เพื่อช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ที่เห็นประจักษ์อยู่บนท้องถนนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 จวบจนกระทั่งในห้วงเวลาปัจจุบันแล้ว
 
ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษ และมีความเคลื่อนไหว ปรับแต่ง เพื่อสร้างเสริมสรรพกำลังกันอย่างต่อเนื่อง คงไม่มีธุรกิจใดมีความน่าตื่นตาตื่นใจมากไปกว่าธุรกิจค้าปลีกไทย ที่กำลังประลองและพร้อมจะรบพุ่งเข้าใส่กันในปีม้าทอง 2014 นี้อย่างแน่นอน
 
ตลอดปี 2013 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ของธนินท์ เจียรวนนท์ ได้วางเข็มมุ่งที่จะปักหมุดและครอบครองพื้นที่สำหรับการขยายอาณาจักรค้าปลีกของกลุ่ม CP ไว้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรุกของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ทุ่มทุนกว่า 188,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นแม็คโครจากกลุ่มบริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี (เอสเอชวี) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบริษัทในเครือเมื่อช่วงต้นปี 
 
ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญของธนินท์ เจียรวนนท์ ในการขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” อย่างครบวงจรโดยเฉพาะการปรับกระบวนทัพยึดทุกช่องทางค้าปลีก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมหาศาล
 
แม้วงการค้าปลีกมองดีลครั้งนี้เป็นการลงทุนที่แพงมาก แต่สำหรับซีพีถือเป็นการลงทุนที่สามารถต่อยอดหลายชั้น เนื่องจากเป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ เนื้อดิบๆ กึ่งปรุงสุก ปรุงสุก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และการเปิดหน้าร้าน ทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหาร
 
การซื้อหุ้นแม็คโครจึงเท่ากับการขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการให้ซีพีทันที เฉพาะในประเทศไทยเกือบ 3 ล้านคน ยอดขายมากกว่า 100,000 ล้านบาททันที ไม่รวมตลาดต่างประเทศ ซึ่งสามารถขยายสาขาภายใต้แบรนด์ “แม็คโคร” ได้ทันที เป็นการแก้ปัญหาการขอไลเซนส์กับ “เซาท์แลนด์” บริษัทแม่เซเว่น-อีเลฟเว่น ที่ดูเหมือนต้องรอเวลาอีกนานหลายปี
 
ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวก็คือ ก่อนหน้าที่จะมีการตกลงซื้อขายในดีลนี้ บริษัทแม่แม็คโครตั้งบริษัทที่ปรึกษาเพื่อขายกิจการแม็คโครในประเทศไทย มีการติดต่อทาบทามผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย ทั้งซีพี เครือเซ็นทรัลของกลุ่มจิราธิวัฒน์ เบอร์ลี่ยุคเกอร์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี และบิ๊กซีที่มีบริษัท Casino Guichard-Perrachon ประเทศฝรั่งเศส ถือหุ้นร่วมกับกลุ่มจิราธิวัฒน์
 
บรรดานักวิเคราะห์ต่างพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กซี” เนื่องจากแนวทางการขยายธุรกิจต้องการบุกทุกช่องทางการจำหน่ายและเครือเซ็นทรัลเพิ่งซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” จากบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่น กระโดดเข้าสู่สงครามคอนวีเนียนสโตร์ ท้าทายผู้นำตลาดอย่าง “เซเว่น-อีเลฟเว่น” อย่างร้อนแรง
 
ดีล “แม็คโคร” จึงมีนัยสำคัญที่ดูเป็นประหนึ่งบทเริ่มต้นของสงครามครั้งใหม่ในสมรภูมิค้าปลีกไทย ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมีสายป่านและเม็ดเงินหนาแน่น หากแต่ยังต้องประกอบส่วนด้วยโครงข่ายสายสัมพันธ์เป็นปัจจัยในการประกอบกิจการด้วย
 
และเมื่อธนินท์ใช้สัมพันธ์อันแนบแน่นกับอดีตประธานเอสเอชวีที่ให้สัญญากันไว้ว่า หากแม็คโครต้องการขายหุ้นหรือกิจการให้นึกถึงซีพีออลล์เป็นรายแรกจนได้ “แม็คโคร” เข้ามาอยู่ในอาณาจักรธุรกิจแสนล้าน เฉือนชนะคู่แข่ง กินรวบตลาดโชวห่วย กวาดยอดขายมากกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลที่มีเครือข่ายหน้าร้านไม่แพ้กัน คงไม่อยู่เฉย ปล่อยชัยชนะในสงครามค้าปลีกรอบใหม่ไปง่ายๆ แน่
 
เพราะในขณะที่ผู้บริหารของกลุ่ม CP ALL เคยตั้งเป้าหมายในการขยายร้าน 7-11 ให้ครบ 1 หมื่นร้านในปี 2560 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กลุ่ม ‘เซ็นทรัล’ เจ้าของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ Family Mart ตั้งเป้าขยายร้านให้ได้ 3 พันร้าน แม้จะเป็นแค่ 30% ของจำนวนร้านของคู่แข่ง แต่ในแง่ของมูลค่าตลาด นั่นหมายถึงยอดขายหลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
 
ก่อนหน้านี้ ภายหลังการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่าง ‘เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ หรือ CRC กับบริษัท แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า CRC จะเพิ่มศักยภาพในการบุกตลาดร้านสะดวกซื้อด้วยการทยอยปรับร้านท็อปส์เดลี่มาเป็นแฟมิลี่มาร์ท ซึ่งถือเป็นหนึ่งสัญญาณความเอาจริงในธุรกิจร้านสะดวกซื้อของผู้บริหาร CRC
 
แต่รูปธรรมของการปรับเปลี่ยนกลับดำเนินไปอย่างช้าๆ เพราะติดขัดเรื่องกระบวนการทำให้ดีลลงตัวจำเป็นต้องใช้เวลา โดยจะเริ่มทยอยเปลี่ยนป้ายและปรับร้านให้เสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2557 โดยคาดว่าจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนสินทรัพย์ที่เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท ต้องจ่ายให้กับเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เจ้าของท็อปส์เดลี่
 
ความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัทในเครือ CRC ครั้งนี้ ยังทำให้อยู่ๆ แฟมิลี่มาร์ทก็มีร้านในทำเลสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่เชียงใหม่ ตรัง พังงา นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ เป็นต้น และทำให้มีร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น โดยใหญ่สุดคือ 250 ตร.ม.
 
นอกจากนี้ แฟมิลี่มาร์ทยังจะได้รับโอกาสไปเปิดในสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์เป็นรายแรกๆ เนื่องจากคาลเท็กซ์เป็นพันธมิตรกับท็อปส์เดลี่มาก่อน ยุทธศาสตร์ปรับร้านครั้งนี้ยังส่งผลดีต่อภาพรวมของกลุ่ม CRC เพราะช่วยลดความสับสนและซ้ำซ้อนระหว่างแฟมิลี่มาร์ทกับร้านท็อปส์เดลี่ไซส์เล็กลงไป เนื่องจากก่อนเป็นเจ้าของ Family Mart กลุ่ม CRC ได้ใช้ท็อปส์เดลี่เป็นหมากรุกในตลาดร้านสะดวกซื้อมาก่อน
 
แฟมิลี่มาร์ท จบสิ้นปี 2013 ด้วยจำนวนร้านค้า 1,040 ร้าน และในปีนี้จะเปิดร้านเพิ่มไม่ต่ำกว่า 200 สาขา และภายในสิ้นปี 2560 ตั้งเป้าไปถึง 3 พันร้าน ส่วนรายได้ ณ สิ้นปี คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท
 
“ก้าวนี้สะท้อนว่าเรารุกจริงจังในตลาดร้านสะดวกซื้อ แต่เราก็ไม่หวังว่าจะแซง ‘เบอร์หนึ่ง’ ได้เพราะเขาไปไกลแล้ว” เป็นภาพสะท้อนการแข่งขันในสมาภูมิค้าปลีกในมิติของร้านสะดวกซื้อที่ชัดเจนมาก
 
ความเย้ายวนของตลาดร้านสะดวกซื้อดึงดูด ‘ผู้เล่น’ ให้เข้ามากราย กลายเป็นเชื้อปะทุยิ่งทำให้การแข่งขันดุเดือด เพราะไม่เพียงปะทะ ‘เบอร์หนึ่ง’ แฟมิลี่มาร์ทยังต้องฝ่าฟันกับหลากผู้ท้าชิง ‘สายแข็ง’ ที่ต่างก็หวังชิงตำแหน่ง ‘เบอร์สอง’
 
‘ลอว์สัน108’ คู่แข่งจากค่ายสหพัฒน์ฯ ที่ชูคอนเซ็ปต์ร้านสะดวกซื้อระดับพรีเมียม อันเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ ‘แฟมิลี่มาร์ท พรีเมียม’ และมี ‘สองยักษ์’ จากกลุ่ม Discount Store อย่างเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ที่ลดไซส์และปรับร้านเพื่อลงมาเล่นตลาดร้านสะดวกซื้อและมินิซูเปอร์ฯ อย่างจริงจัง
 
ส่วน ‘ผู้นำตลาด’ ก็หาได้ทำแค่ขยายร้านไปเรื่อย แต่ยังหาโอกาสชิงตลาดกลับคืนทุกเมื่อ โดยล่าสุด ร้าน 7-11 ได้สกัดแฟมิลี่มาร์ทจนหลุดจากโครงการคอนโดของ LPN ด้วยการเข้าเป็นพันธมิตรแทนที่แฟมิลี่มาร์ท นอกจากนี้ยังมีการแย่งชิงเป็นพันธมิตรกับค่ายปั๊มน้ำมัน เพื่อชิงโอกาสในการเปิดร้านในปั๊ม ฯลฯ
 
แม้การแข่งขันจะรุนแรง แต่ตราบที่ร้านสะดวกซื้อยังเปิดใหม่ตลอดเวลา ก็หมายความว่า ‘Red Ocean’ แห่งนี้ยังมี ‘โอกาส’ เพียงแต่อาจต้องระดม ‘สรรพกำลัง’ และ ‘สายป่าน’ มากหน่อยเพื่อแย่งชิงมา
 
ไม่เพียงแต่ร้านสะดวกซื้อ หรือ super market เท่านั้นที่แข่งขันกันอย่างหนักหน่วงเพราะในมิติของห้างสรรพสินค้าและ Shopping Mall ในตลาดบนก็แข่งขันหนักหน่วงเช่นกัน
 
การประกาศแผนการลงทุนของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่จะใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาทในการสร้าง Shopping District เป็นตัวอย่างหนึ่งของความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่และสร้างจุดขายครั้งใหม่ ท่ามกลางการเปิดแนวรุกของคู่แข่งขันหลักจากเครือเซ็นทรัลที่ดำเนินต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
 
ยุทธศาสตร์การขยายตัวของเดอะมอลล์ กรุ๊ป และเครือเซ็นทรัลเป็นกรณีเปรียบเทียบที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก เพราะในขณะที่เครือเซ็นทรัลโดยเซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN และเซ็นทรัลรีเทลคอร์ป CRC จะดำเนินมาตรการเชิงรุกด้วยการขึงตรึงพื้นที่ในเขตย่านที่มีศักยภาพสูงในทุกทิศทางของเมือง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า พระราม 2 พระราม 3 แจ้งวัฒนะ รามอินทรา รัตนาธิเบศร์ รังสิต พระราม 9 รวมถึงกระจายตัวสู่หัวเมืองต่างจังหวัดอย่างกว้างขวาง
 
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งจากเดิมเคยถูกปรามาสว่าเป็น “ห้างท้องถิ่นหัวเมือง” กลับพยายามเน้นภาพลักษณ์การเป็นผู้ประกอบการศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ หลังจากประสบความสำเร็จในการเบียดแทรกเข้ามาลงทุนในย่านสุขุมวิทด้วย ดิ เอ็มโพเรียม และตอกย้ำด้วยการร่วมลงทุนในสยามพารากอนในเวลาต่อมา
 
การเปิดตัวโครงการเชื่อม 3 ศูนย์การค้า คือ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และ ดิ เอ็มสเฟียร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการรุกสงครามค้าปลีกตามยุทธศาสตร์การสร้างย่านชอปปิ้งของตัวเอง เพื่อควบคุมแนวคิดโครงการ ควบคุมกลยุทธ์การทำตลาด รวมถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ต้องการใช้ศูนย์การค้ารอบข้างเข้ามาเป็นปัจจัย ซึ่งเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญของย่านสยามสแควร์ที่มีศูนย์การค้าใหญ่อยู่ในบริเวณเดียว ต่างค่ายต่างทำ และในที่สุดกลายเป็น “จุดขาย” ซ้ำซ้อนกัน ไม่แตกต่างกัน ทั้งร้านค้าแบรนด์เนม หรือกลยุทธ์ต่างๆ
 
เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังมีแผนปลุก “Uptown” ย่านบางนา ด้วยการปักหมุดศูนย์การค้าเดอะมอลล์บางนา ชอปปิ้งมอลล์ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมี “ความใหญ่” เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อชนกับ “เมกาบางนา”
นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิด เดอะมอลล์ ภูเก็ต รวมถึงโครงการ “บลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ท” ที่ร่วมกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด ของตระกูลลิปตพัลลภ สร้างศูนย์การค้ารูปแบบรีสอร์ตมอลล์ เนื้อที่ 25 ไร่ พื้นที่ใช้สอยรวม 140,000 ตร.ม. เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท โดยมุ่งมั่นจะเปิดบริการให้ได้ในปี 2558 เพื่อเปิดโซนชอปปิ้งแห่งใหม่ในหัวหิน
 
การแข่งขันที่แผ่ซ่านไปสู่หัวเมืองใหญ่ในเขตภูมิภาคเห็นได้ชัดจากกรณีของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะแม้ค่าย “เอสเอฟซีเนม่า” ประกาศเลื่อนโครงการไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ “เม-ญ่า” (MAYA) จากแผนที่จะเผยโฉมเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคมไปเป็นเดือนมกราคมในปีนี้ แต่การเปิดตัว “เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่” ของกลุ่มเซ็นทรัลเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เพิ่มความร้อนแรงส่งท้ายปีอย่างดุเดือด
 
โดยเฉพาะแผนสกัดคู่แข่งดาวรุ่ง “พรอเมนาดา รีสอร์ท มอลล์” ของกลุ่มทุนเนเธอร์แลนด์และเร่งช่วงชิงฐานลูกค้าตามยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน รวมกันตี” ที่มีทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว ฝังตัวยึดหัวหาดตลาดมานานเกือบ 20 ปี
 
เชียงใหม่ ถือเป็นสมรภูมิค้าปลีกที่น่าจับตามองมากเป็นพิเศษ เพราะด้วยศักยภาพของเมืองท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆ ของโลก เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 2 ของประเทศไทย และอันดับ 1 ของภาคเหนือ มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดมากกว่า 40,000 ล้านบาท ประชากร 1.7 ล้านคน มีกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อจาก 5 จังหวัดข้างเคียง คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และตาก กว่า 2 ล้านคนต่อปี และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเฉลี่ย 5 ล้านคนต่อปี
 
รวมถึงศักยภาพที่กำลังจะติดตามมาในอนาคต ทั้งจากกรณีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ “เออีซี” ในปี 2558 การเกิดขึ้นของโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้ารางคู่ ผู้คนจากทั่วสารทิศจะหลั่งไหลเข้ามาอีกมาก ไม่ใช่แค่คนจีน ญี่ปุ่น ที่แห่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณ เม็ดเงินจำนวนมหาศาล
 
แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะประสบกับภาวะถดถอยและเป็นขาลงที่อาจดำเนินต่อเนื่องยาวนาน แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกไทย การแข่งขันในสมรภูมินี้คงไม่มีใครยอมถอยให้กับใครอย่างแน่นอน และน่าจะทำให้ปี 2014 เป็นปีที่ธุรกิจค้าปลีกไทยมีสีสันมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
เป็นการแข่งขันเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อและส่วนแบ่งการตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อการต่อยอดและหล่อเลี้ยงองคาพยพทางธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤตที่รอคอยอยู่รอบด้าน หากแต่ฝ่ายใดจะฝ่าพ้นสมรภูมินี้ไปได้ คงต้องรอการประเมินอีกสักระยะ เพราะมหาสงครามนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
 
 
Category: 
Viewing all 540 articles
Browse latest View live